ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งตัดกำลังยุงลาย ก่อนถึงฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก ชี้ปี 2556 พบผู้ป่วยป่วยไข้เลือดออกในช่วงฤดูหนาว 1 เดือนแรกของปีนี้ 5,700 กว่าราย พยากรณ์โรคอาจรุนแรงผู้ป่วยมากถึง 100,000-120,000 ราย โดยเฉพาะเด็กโต ผู้ใหญ่ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก คาดอาจเสียชีวิต 100-120 ราย รณรงค์ให้บ้านทุกหลังคาเรือน กำจัดลูกน้ำยุงลายก่อนที่จะกลายเป็นตัวยุงเต็มวัยทุกอาทิตย์
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2556 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 5,739 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 5.4 เท่า มีผู้เสียชีวิต 4 ราย การพบผู้ป่วยไข้เลือดออกในขณะที่ยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว เป็นสัญญาณเตือนว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาจสูงถึง 100,000-120,000 ราย เสียชีวิต 100-120 ราย หากไม่มีการณรงค์ป้องกันควบคุมยุงลายอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดวอร์รูมไข้เลือดออกที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วางมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของพื้นที่ทุกสัปดาห์ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุด และป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งตัดกำลังยุงลายก่อนถึงฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออกคือในช่วงฤดูฝนประมาณพฤษภาคม – สิงหาคม โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข รณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วน เร่งสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านและชุมชน ตั้งแต่เดือนนี้จนถึงมีนาคมเพื่อลดการป่วย โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ต้องไม่พบลูกน้ำยุงลายในภาชนะเก็บน้ำทุกชนิด เพราะหากมียุงลายแม้เพียงตัวเดียวก็อาจทำให้เกิดการระบาดได้ และให้กรมการแพทย์จัดอบรมแพทย์ ทั้งกุมารแพทย์ อายุรแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ และพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด ลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด โดยในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่มีไข้ ให้คิดถึงโรคไข้เลือดออกด้วย เนื่องจากโรคนี้มีแนวโน้มพบมากขึ้น ในกลุ่มเด็กโต ผู้ใหญ่ และผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ที่สำคัญคือผู้ป่วยร้อยละ 90 จะไม่มีอาการแสดง จะมีเพียงไข้ต่ำๆ ไม่มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรค อาจเกิดอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสอบสวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทุกราย พบว่ากว่าร้อยละ 80 ถูกยุงลายในบ้านกัด ที่เหลือเป็นยุงที่อยู่ในบริเวณบ้าน โดยจุดที่พบลูกน้ำยุงลายมากที่สุดคือภาชนะเก็บน้ำภายในบ้านพบร้อยละ 60 ที่เหลือเป็นภาชนะที่ไม่ได้ใช้ และเศษวัสดุที่เป็นขยะในบริเวณรอบๆบ้าน เชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะทำให้สถานการณ์ไข้เลือดออกปีนี้รุนแรง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนจะสามารถป้องกันได้ คือการร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายที่อยู่ในภาชนะเก็บน้ำภายในบ้านก่อนที่จะกลายเป็นตัวยุงเต็มวัยทุกอาทิตย์โดยปิดฝาภาชนะให้สนิท หากเป็นภาชนะที่ไม่มีฝาปิด เช่น แจกันไม้ประดับ จานรองขาตู้กับข้าว ให้เติมน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ และขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ ทั้งนี้ ยุงลายตัวเมีย 1 ตัวหลังผสมพันธุ์จะตั้งท้องและวางไข่ได้ตลอดชีวิตครั้งละประมาณ 100 ฟอง มีชีวิตอยู่ประมาณ 1 เดือน ไข่ยุงทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้นานหลายเดือน เมื่อไข่ถูกน้ำท่วมถึงจะฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำอย่างรวดเร็วภายในเวลา 20 – 60 นาที
- 2 views