ในเวลานี้หลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญจัดทำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นนโยบายที่ส่งผลชัดเจนต่อประชาชน ช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ และถือเป็นวาระเร่งด่วนในการผลักดันเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ จะมีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจัดโดยองค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก มีการเชิญ 20 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และผลักดันการจัดทำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จากการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศริเริ่มด้าน Global Health and Foreign Policy ทั้งหมดเจ็ดประเทศ ได้แก่ ประเทศบราซิล ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย นอร์เวย์ เซเนกัล แอฟริกาใต้ และประเทศไทย ได้ร่วมกันเสนอร่างมติ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" หรือ "Universal Health Coverage" เข้าพิจารณาในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ มีประเทศร่วมให้การสนับสนุนร่างมตินี้ถึง 91 ประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ประเด็นสำคัญหนึ่งในมตินี้ คือ การพิจารณาให้มีการจัดประชุมระดับผู้นำประเทศ เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายนี้อย่างจริงจัง และผลักดันให้ "หลักประกันสุขภาพ" เป็นหนึ่งในเป้าหมาย สหัสวรรษ หลังปี ค.ศ.2015
ขณะที่ ดร.วลัยพร พัชรนฤมล นักวิชาการอาวุโส สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าการจัดประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นับเป็นการประชุมที่มีความพิเศษ เพราะนอกจากเป็นการหารือร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของแต่ละประเทศเข้าร่วม เนื่องจากมองว่าการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงการคลังผู้ถืองบประมาณประเทศ กระทรวงสาธารณสุขผู้พัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ผู้รับผิดชอบหลักประกันของผู้ใช้แรงงาน หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหล่านี้เข้าใจและเห็นชอบ จะทำให้มีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้มาก ดังนั้นการจัดประชุมดังกล่าวจึงถือเป็นสัญญาณที่ดี
อย่างไรก็ตามเมื่อดูความก้าวหน้าการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดร.วลัยพร บอกว่ามีหลายประเทศที่ดำเนินนโยบายนี้แล้ว บางประเทศทำมาแล้วหลายปี เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย กำลังดำเนินการ มีเป้าหมายสำเร็จในปี 2559 และ 2562 ตามลำดับ ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถจัดระบบประกันสุขภาพครอบคลุมถึง 95% ของจำนวนประชากรกว่า 1.3 พันล้านคนเมื่อเร็วๆ นี้
ขณะที่ประเทศไทยนั้น ได้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยประชากรกว่า 98% ได้รับการคุ้มครองจากหลักประกันสุขภาพ 1 ใน 3 สิทธิที่มีอยู่ ได้แก่ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเรียกกันทั่วไปว่าบัตรทอง
ส่วนความคืบหน้าความร่วมมือผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอาเซียน ดร.วลัยพร บอกว่า จากผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2555 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพที่ภูเก็ตนั้น รัฐมนตรีสาธารณสุขต่างเห็นด้วยกับการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และให้มีการจัดตั้งเครือข่ายหลักประกันสุขภาพของประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three UHC Network) โดยมีการร่างข้อตกลงร่วมกัน (Term of Reference: TOR) มีเนื้อหาหลักคือ ความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การวิจัยร่วมกันเพื่อสร้างความรู้ในระบบมากขึ้น และการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอแต่ละประเทศส่งความเห็นต่อร่างข้อตกลงนี้กลับมา ซึ่งมีหลายประเทศให้ความเห็นชอบแล้ว และได้มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบในการเป็นแกนนำของเครือข่ายด้วย
"ในกลุ่มอาเซียนบวกสามมีความแตกต่าง กัน ในการจัดทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อยู่มาก โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะมีระบบ รองรับ อย่าง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ บรูไน และเกาหลี ใต้ แต่อาจแตกต่างกันไป เช่น เกาหลีใต้ แม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายนี้แต่ยังมีปัญหาการครอบคลุมสิทธิประโยชน์การรักษา มาเลเซียกำหนดการบริการรักษาฟรีเฉพาะที่โรงพยาบาลรัฐ และยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษา" ดร.วลัยพร กล่าวและว่า ส่วนประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีการตั้งเป้าหมายการดำเนินงานอย่างชัดเจน เช่น อินโดนีเซียกำหนดเริ่มในปี 2557 และครอบ คลุมประชากรในปี 2562, ฟิลิปปินส์ตั้งเป้าหมายบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2559, เวียดนาม กฎหมายกำหนดให้ต้องบรรลุเป้าหมายในปี 2557 แต่ในทางปฏิบัติคงให้ครอบคลุมประชากร 80% ก่อนในพ.ศ. 2563 และลาวกำหนดเป้าหมายในปี 2563 กัมพูชายังไม่มีการระบุเวลาอย่างชัดเจน ขณะที่พม่ามีนโยบายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นกัน แต่จะเดินหน้าให้ประชาชนเข้าถึงยาก่อน”
ทั้งนี้ หากทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสามซึ่งมีประชากรราว 2,000 ล้านคน มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมทุกประเทศ เท่ากับว่าเราสามารถทำให้ประชากร 1 ใน 3 ของโลกมีระบบหลักประกันสุขภาพที่รองรับเมื่อเจ็บป่วย ทั้งส่งผลดีหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ใน การเชื่อมโยงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของแต่ละประเทศด้วย
ดร.วลัยพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ทั่วโลกกำลังตื่นตัวตอบรับกระแส "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ทั้งในระดับสากล ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ประเทศไทยในฐานะที่เราบรรลุหลักประกันสุขภาพมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2545 นับเป็นเวลาสิบปีเศษแล้ว บทพิสูจน์นี้ทำให้ประชาคมโลกรู้ว่า "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" นั้นเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จได้ แม้จะไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งจากกลุ่มประเทศอาเซียนและเวทีโลก เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่สามารถจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้งบประมาณที่จำกัด ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาทั่วถึง ทั้งช่วยให้ประชาชนไม่ต้องเป็นหนี้หรือล้มละลายจากการรักษาพยาบาลอย่างในอดีต นอกจากนี้ยังครอบคลุมสิทธิประโยชน์การรักษา ทำให้ประเทศไทยไม่แต่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่ยังได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพของไทยประสบความสำเร็จ คือเรามีรากฐานระบบสาธารณสุขภาครัฐที่ดี โดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิ เมื่อมีการประกาศนโยบายก็สามารถทำได้
นพ.วินัย บอกอีกว่า สำหรับความร่วมมือในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม เรามีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้การจัดทำระบบ โดย สปสช สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งการผลักดันนโยบาย การจัดทำระบบ ทั้งนี้หากทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับจะเป็นผลดีกับทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะภายหลังการเปิดเสรีอาเซียนที่จะกำลังจะมาถึงนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556
- 29 views