รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยกระทรวงสาธารณสุขรับภาระรักษาฟรี แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ยอดตั้งแต่ปี 2553-2555 รวมกว่า 1,000 ล้านบาท
มติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพดูแลต่างด้าวที่ระบบประกันสังคมไม่ได้คุ้มครองเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 พร้อมตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายทิศทางการแก้ไขให้ชัดเจน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้ครอบคลุม ทั้งการลดภาระและประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรคติดต่อที่มาจากต่างด้าว
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2556) ที่โรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในขนาด 6 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สามารถรองรับปัญหาแผ่นดินไหวได้ด้วย งบประมาณก่อสร้าง 70 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2558 เพื่อขยาย การบริการผู้ป่วยและให้บริการเชิงรุก เตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมระบบบริการของโรงพยาบาลเชียงคำ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 225 เตียง พบว่าต่อวันมีผู้ป่วยใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกประมาณ 1,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยชาวลาวที่เดินทางเข้ามารับบริการร้อยละ 3 เฉลี่ยวันละ 6-7 ราย และมีผู้ป่วยลาวที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เฉลี่ยวันละ 1 คน ส่วนใหญ่มารับบริการด้านสูตินรีเวช เช่นทำคลอด ผ่าตัดมดลูก แต่โรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บค่ารักษาได้บางส่วน ที่เรียกเก็บไม่ได้เนื่องจากฐานะยากจน มีมีเงินจ่าย และบางส่วนหลบหนีหลังอาการดีขึ้นทำให้โรงพยาบาลต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละประมาณ 1 ล้านบาท
ขณะนี้ ปัญหาค่ารักษาพยาบาลต่างด้าวของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลใน 57 จังหวัด ตั้งแต่ปี2553-2555ไทยมีค่ารักษาต่างด้าว 3 สัญชาติ คือพม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งหมด 1,189 ล้านกว่าบาท เป็นการรักษาทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ในปี 2553 รวม 254 ล้านกว่าบาท ปี 2554 รวม 240 ล้านกว่าบาท ส่วนในปี 2555 ยอดรวม 693 ล้านกว่าบาท ขณะเดียวกัน ผลการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวก่อนออกใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ปี 2554 ตรวจทั้งหมด 855,198 คน พบว่ามีโรคที่ต้องติดตามให้การรักษา เช่นวัณโรค มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน รวมทั้งหมด 6,195 คน และพบโรคต้องห้ามไม่ให้ทำงาน 594 คน ในจำนวนนี้พบเป็นผู้เสพสารเสพติดมากที่สุด 358 คน วัณโรคระยะติดต่อ 179 คน โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 จำนวน 15 ราย
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่ออีกว่า การพบโรคติดต่อเหล่านี้ส่งสัญญาณอาจเกิดโรคระบาดในประเทศที่มาจากแรงงานต่างด้าวได้ หากไม่มีระบบป้องกันและควบคุมดีพอ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณได้เร่งแก้ไขและเตรียมการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพดูแลต่างด้าวที่ระบบประกันสังคมไม่ได้คุ้มครอง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะกรรมการอำนวยการด้านสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว มีผู้บริหารจากในและนอกกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม. สำนักงานประกันสังคม องค์การอนามัยโลก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ กรอบนโยบายดำเนินงานสาธารณสุขสำหรับประชากรต่างด้าว ตามนโยบายรัฐบาล 2.คณะทำงานด้านการสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว ในการจัดบริการ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในประชากรต่างด้าว มี นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อวางระบบการดูแลครอบคลุมทั้งการดูแลการเจ็บป่วย และการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรค
- 3 views