“ชลน่าน” ออกงานครั้งแรกหลังปรับครม.เศรษฐา2 ร่วมงานความสำเร็จโครงการอบรมขับเคลื่อน Care D+ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ สื่อสารเชิงบวกระหว่างบุคลากร ผู้ป่วย และญาติ ลดปัญหาความไม่เข้าใจในสถานพยาบาล โดยจุฬาฯ มอบโล่เกียรติคุณ “พญ.นวลสกุล” ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ
เวลา 10.30 น. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงผลความสำเร็จโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 โดยมีเป้าหมายการอบรมบุคลากร 10,000 คนภายในเดือนเมษายน 2567 แต่พบว่ามีบุคลากรเข้าร่วมถึง 20,000 คน พร้อมมอบโล่เกียรติคุณ ให้แก่ พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ หรือ หมอก้อย เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมงานแถลงผลความสำเร็จโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ที่ริเริ่มโครงการโดย พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ อดีตคณะที่ปรึกษา รมว.สธ. ในสมัยที่ นพ.ชลน่าน เป็น รมว.สธ. ซึ่งถือเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ หรือ ครม.เศรษฐา2
โดย นพ.ชลน่าน ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่า “ไม่มีประเด็นอะไร รอสักหน่อย ค่อยมาพูดคุยกัน ไม่มีประเด็นอะไร“
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้พูดคุยกับสมาชิกพรรคคนอื่นๆ หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เหมือนเดิม ท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ก็คุยกันประจำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดความสำเร็จโครงการ Care D+ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ Care D+ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดการศึกษาแบบเรียนตลอดชีวิตเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ จากความร่วมมืออย่างจริงจังของจุฬาฯ และกระทรวงสาธารณสุข ทางจุฬาฯ ได้เฝ้าติดตามความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งพบว่ามีจำนวนผู้เข้าอบรมในโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตนขอขอบคุณ พญ.นวลสกุล ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการ Care D+ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป
ด้าน รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมการสื่อสารและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลักสูตรออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ มีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ จากเป้าหมายผู้เข้าอบรมและจบหลักสูตรว่าจะต้องครบ 1,000 คนภายใน 2 เดือน ครบ 10,000 คนใน 6 เดือน ผลปรากฏในความเป็นจริงพบว่า ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ก็บรรลุตั้งเป้าหมาย 10,000 คน และในวันนี้มีอบรมรวม 20,000 คน และผู้เข้าเรียนได้นำความรู้ไปต่อยอดในการทำงานจริง ทั้งนี้ จุฬาฯ ได้ทำการประเมินผลกระทบทางสังคม จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติต่อการสื่อสารของบุคลากร พบว่ามีความพึงพอใจถึงร้อยละ 77 - 86 ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจปฏิบัติตามคำแนะนำได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้การดูแลสุขภาพและการรักษาดีขึ้น ขณะเดียวกัน บุคลากรได้พัฒนาทักษะการสื่อสารและเข้าใจมุมมองของผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้ข้อร้องเรียนลดลงความพึงพอใจของผู้รับบริการเพิ่มขึ้น
ขณะที่ ความคุ้มค่าด้วยผลตอบแทนจากการลงทุน พบว่า สามารถประหยัดค่าอบรมได้ 37 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการอบรมแบบออนไลน์ โดยการที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องลามาอบรมก็สามารถคืนเวลาให้ราชการได้ถึง 160,000 ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 10 ล้านบาท ขณะที่มุมของสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์ฟุตพริ้นท์จากการเดินทางได้ถึง 143 ตันคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้ประหยัดค่าน้ำมันได้ถึง 8 ล้านบาท
ด้านผลกระทบด้านอารมณ์ของผู้ให้บริการ 3 ข้อ ได้แก่ 1.สร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ 2.ลดความเครียดและความเสี่ยงจากการถูกร้องเรียน และ 3.พัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยแห่งความสำเร็จ 4 ประการ ได้แก่ 1.การออกแบบเนื้อหาและระบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบท ที่จุฬาและสท. ได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรขึ้นมา 2.กลไกสนับสนุนผู้เรียนที่ครอบคลุมทั้งระบบพี่เลี้ยงการตอบข้อซักถามและกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ 3.ความร่วมมือจากผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่การร่วมมือของผู้บริหารเป็นต้นแบบที่ดีทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีขวัญและกำลังใจในการดำเนินตาม และ 4.มีระบบการรายงานติดตามและประเมินผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ส่วนข้อเสนอแนะของโครงการ 4 ข้อ ได้แก่ 1.การขยายผลและพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง 2.สร้างนโยบายและกลไกเชิงระบบเพื่อส่งเสริมการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ 3.ยกย่องเชิดชูบุคลากรและหน่วยงานต้นแบบ และ 4.ส่งเสริมกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้เราเข้าใจเขามากกว่าในห้องตรวจ
- 404 views