กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่องร่างกรอบการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียูไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 โดยเชิญ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 300 คน หลังจาก เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเสนอร่างกรอบเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 ธันวาคม 2555 อย่างเร่งด่วนและรวบรัด
โดยให้เหตุผลว่า ต้องการเปิดการเจรจาให้ได้ก่อนที่อียูจะประกาศหลักเกณฑ์การให้สิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) รอบใหม่ ซึ่งจะมีผลให้สินค้าอาจจะถูกตัดสิทธิจีเอสพี ในปี 2558 ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านอย่างหนัก
เอฟทีเอไทย-อียู ถือเป็นความตกลงที่เปิดเวทีรับฟังความเห็นมากที่สุดนับ 100 เวที และยาวนานที่สุดกว่า 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ที่มีแผนเปิดเจรจาในลักษณะภูมิภาค ระดับอาเซียน-อียู แต่ในที่สุดต้องพับโครงการไป เพราะมีประเทศสมาชิกบางประเทศยัง ไม่พร้อม และมาเริ่มกระเพื่อมอีกครั้งในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก่อนจะดับไป และมาเริ่มดำเนินการอีกครั้งในสมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สาเหตุที่การเจรจาถูกพับ เป็นผลจากความกังวลว่า อียูจะขอเปิดเสรีในด้านทรัพย์สินทางปัญญา เกินกว่าที่ตกลงกันไว้ ในความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลกหรือ TRIPs Plus ส่งผลกระทบต่อราคายา และเกิดปัญหาการเข้าถึงยา และขอให้มีการเปิดเสรีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า ถูกลง ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทย
สำหรับหน้าตากรอบการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียูฉบับนี้ ประกอบด้วย 17 หัวข้อ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 3) กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) มาตรการปกป้องด้านดุลการชำระเงิน 6) มาตรการสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช 7) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 8) การค้าบริการ 9) การลงทุน 10) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ 11) ทรัพย์สิน ทางปัญญา 12) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13) ความโปร่งใส 14) การแข่งขัน 15) การค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน 16) ความร่วมมือ และ 17) เรื่องอื่น ๆ
ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า การเปิดเวทีครั้งนี้ กะทันหันมาก และไม่มีข้อมูลอะไรเลย มีเพียงกรอบการเจรจาที่กว้างมาก ไม่มีรายละเอียด ไม่สามารถจะประเมินได้ว่าจะมีใครได้หรือเสียประโยชน์จากการเจรจาอย่างไร ฉะนั้น ควรให้รายละเอียด และให้เวลาประชาชนทำการบ้านมากกว่านี้ เพื่อจะได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ต่อการเจรจาได้
"โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องสิทธิบัตรยาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผลประโยชน์เกี่ยวข้องมหาศาล มีมูลค่านับเป็นแสนล้านบาท ที่ผ่านมาเราได้รับบทเรียนจากการเจรจากับสหรัฐพยายามจะเอาเปรียบ ซึ่งอียูคงจะพยายามขอเกินกว่า TRIPs PLUS เช่นกัน เช่น ขอให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเกินกว่า 20 ปี" ดร.สุปรีดิ์กล่าว
ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชนจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับ ข้อ 1. การค้าสินค้า และแสดงความพร้อมที่จะให้ มีการเปิดตลาดลดภาษีสินค้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มน้ำตาลทราย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ยืนยันท่าทีการเจรจาเช่นเดียวกับกรอบอาเซียน-อียู ลดภาษีเป็น 0% และใช้แหล่งกำเนิดสินค้า (ROO) แบบสะสม 40% กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับยินดีจะให้มีการลดภาษีระหว่างกันเป็น 0% และ ROO เป็นแบบเปลี่ยนพิกัด 4 หลัก เพื่อประโยชน์ต่อผู้ผลิตเครื่องประดับที่มีการนำเข้าวัตถุดิบ
ส่วนภาคประชาชน เสนอขอให้แก้ไขกรอบเจรจาข้อ 1.3 ซึ่งระบุว่า "ให้มีการลดหรือเลิกมาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีให้มากที่สุด" เพราะยังไม่มีการนิยามมาตรการที่มิใช่ภาษีที่ชัดเจน ถ้าหากมีการตีความว่า "กฎหมายภายในประเทศของไทย" เป็นอุปสรรคหรือมาตรการทาง การค้า และบีบบังคับให้ไทยแก้กฎหมาย หรือจำกัดทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายใหม่มาใช้ได้อีก เช่น กฎหมายควบคุมการออกฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังค้างอยู่ เพราะเมื่อแจ้งว่าจะออกกฎหมายนี้ก็ถูกองค์การการค้าโลกเรียกให้ไปชี้แจง
ข้อ 11.1 ที่ระบุว่า ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงระหว่างประเทศ ที่ไทยเป็นภาคี โดยให้ใช้คำว่า "ไม่เกินไปกว่า" แทนคำว่า "สอดคล้อง"
ข้อ 13 ว่า ความโปร่งใส "จะสนับสนุนให้มีกฎหมายและข้อบังคับภายใน ที่มีความโปร่งใส และมีกระบวนการในการเผยแพร่กฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวให้แก่สาธารณชนและผู้ประกอบการ และจะต้องพยายามจัดให้มีระยะเวลาตามสมควร ระหว่างเวลาที่ประกาศหรือเผยแพร่กฎหมาย และข้อบังคับดังกล่าวต่อสาธารณชนกับเวลาที่ให้กฎหมายและข้อบังคับนั้นมีผลใช้บังคับ" แต่กลับไม่ได้ระบุว่าจะมี การรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างไร
และข้อ 15.1 ระบุว่า ให้ใช้ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่และเปิดโอกาสให้กำหนดมาตรฐาน สิ่งแวดล้อมภายในประเทศเพิ่มเติม และ ข้อ 15.2 ประเทศคู่ภาคีจะต้องไม่ใช้นโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แรงงาน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก มาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ซึ่งประเด็นนี้ทางภาคประชาชนห่วงว่า หากไทยเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ย่อมจะมีมาตรฐานสากลที่จะต้องปฏิบัติตาม แล้วจะถือว่าเป็นมาตรการที่กีดกันทางการค้าได้หรือไม่
แม้ว่าข้อชี้แจงของกรมเจรจาฯเกี่ยวกับประเด็นมาตรการกีดกัดทางการค้าแจ้งว่า ในความตกลงเอฟทีเอ ซึ่งเป็นข้อตกลงย่อยในความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก รัฐบาลแต่ละประเทศย่อมจะสามารถออกฎหมายภายในประเทศของตนเองมาบังคับใช้ได้ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานการไม่เลือกปฏิบัติ แต่ยังไม่ได้ทำให้เกิดความกระจ่างชัดในประเด็นดังกล่าว และยังคงเกิดกระแสวิจารณ์ทางลบ เพราะความไม่ชัดเจนของกรอบการเจรจาที่เขียนไว้กว้าง ขาดยุทธศาสตร์ที่รัดกุม มองถึงมูลค่า การส่งออกสินค้าจีเอสพีเพียงมุมเดียว จนภาคประชาสังคม หยิกแกมหยอกว่า กรอบการเจรจานี้ เหมือนเขียนเช็คเปล่าให้เติมตัวเลขเองตามสบาย
ท่าที กกร.
ท่าทีคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) สนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยให้เหตุผล 4 ด้าน คือ 1) การเจรจาเอฟทีเอจะสามารถทดแทนการที่ไทยจะถูกตัดสิทธิ จีเอสพีเป็นการถาวรในปี 2558 ซึ่งกระทบต่อการส่งออกสินค้า 80,000 ล้านบาท 2) ช่วยรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และป้องกันไม่ให้มีการย้ายฐานการลงทุนไปในประเทศอาเซียนอื่นที่ได้เจรจาเอฟทีเอกับอียูไปแล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม 3) การเจรจาจะช่วยสร้างโอกาสให้กับไทยก้าวไปสู่การเป็นประตูเชื่อมโยง ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างยุโรปกับอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ และภาคบริการ และ 4) สินค้าและบริการไทยยังมีศักยภาพ อาทิ อาหาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ บริการ โรงพยาบาลและสุขภาพ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและแฟชั่น
ส่วนข้อเสนอแนะการเจรจาที่พึงระวัง อาทิ 1) มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของอียู รวมถึง เรื่องการกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้า การยกเลิกโควตาภาษีต่าง ๆ 2) การผลักดันการเจรจาให้จบโดยเร็ว เพราะอาจจะไม่สามารถอ้างของยืดเวลาในการตัดสิทธิจีเอสพีได้ 3) ระวังมาตรการทางการค้าและการลงทุนที่แตกต่างกันในประเทศสมาชิกอียู 4) การเปิดเสรีบริการควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของไทย 5) ขอให้พิจารณาผลกระทบเชิงบวก-ลบ เป็นรายสินค้า จัดกลุ่มสินค้าอ่อนไหวใหม่ ดูแลแก้ปัญหาเรื่องยา พร้อมทั้งเตรียมมาตรการเยียวยา และให้เวลาปรับตัวที่เพียงพอ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. 2556
- 8 views