ผู้อำนวยการด้านหลักประกันทางสังคมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้แจกแจงและวิพากษ์การบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคม การผูกขาดอำนาจของคณะกรรมการกองทุนที่หลายคนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง สิทธิต่าง ๆ ของผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคนอยู่ในมือกรรมการเพียง 5คน เทียบกรรมการ 1 คน ต่อผู้ประก้นตน 3 แสน มากกว่า ส.ส.อีก และหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและเปิดเผยรายการการประชุมของกรรมการและอนุกรรมการทุกชุด โดยเฉพาะการอนุมัติเงินบริหารจัดการที่มาจากเงินสมทบให้ผู้ประกันตนและสาธารณะรับทราบ
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามักจะได้ยินเสียงบ่นเรื่อง เว็บไซด์ของประกันสังคมล่ม ฐานข้อมูลใช้งานไม่ได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการระบบประกันสังคมและกระทบต่อผู้ประกันตน
ปัญหาที่ผู้ประกันตนสัมผัสได้ในระยะสั้นนี้ เป็นแค่ “ของโชว์หน้าร้าน” เท่านั้น ข้างในร้านมีปัญหากองให้ดูอีกมากมาย มีทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แล้วแต่จะเลือก
ปัญหาที่กองอยู่ในร้านส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่มาจาก “คณะกรรมการประกันสังคม” ที่ขาดความสามารถ ขาดความรับผิดชอบต่อผู้ประกันตน และขาดจริยธรรม คณะกรรมการทุกท่านอาจจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ และคณะกรรมการบางท่านอาจจะขาดครบทั้งสามอย่างก็เป็นได้ ซึ่งเราประเมินได้จากคำพูดของอดีตเลขาฯ ประกันสังคมท่านหนึ่งที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เวลายกมือไหว้บางคนยังต้องเก็บนิ้วไว้หนึ่งนิ้วเลย”
คณะกรรมการประกันสังคม ควรเป็นผู้ที่มีเกียรติและควรได้รับเกียรติตอบแทน เพราะเขาดูแลตัดสินความอยู่ดีมีสุขของคนไทยกว่า 10 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานของประเทศ แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร โปรดพิจารณา
ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม มาจากภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 ท่าน และรัฐมนตรีสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 5 ท่าน
ถ้าคำนวณสัดส่วนกรรมการฝ่ายลูกจ้างต่อจำนวนผู้ประกันตน พบว่ากรรมการฝ่ายลูกจ้างหนึ่งคนเป็นตัวแทนของผู้ประกันตน 2 ล้านคน สัดส่วนความรับผิดชอบต่อหัวของกรรมการฝ่ายลูกจ้างนั้นมากเกินกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำ
คณะกรรมการที่มาจากภาครัฐมีปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาสำนักงานประกันสังคม และผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณ ตามมารยาทของข้าราชการไทย มักเป็นว่าผู้แทนนอกกระทรวงแรงงานมักไม่อยากก้าวก่ายหรือขัดแข้งขัดขาการทำงานของสำนักงานประกันสังคมซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน การที่ผู้ประกันตนหวังพึ่งผู้แทนนอกกระทรวงว่าจะมีการถ่วงดุลระหว่างกระทรวงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนก็เป็นไปได้น้อยมาก
ส่วนการคัดเลือกกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ก็มีจุดอ่อนหลายประการ
ประการแรก กฎหมายมิได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่จะกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการคัดเลือกของประธานและกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐอื่นไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ และต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
ประการที่สอง กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีในการคัดเลือกผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และ โปร่งใส ทำให้ที่ผ่านมาผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างจำนวนหนึ่ง ขาดความรู้ความสามารถที่จะมาทำหน้าที่กรรมการได้ตามที่กฎหมายกำหนด
ประการที่สาม ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างยังเป็นคนเดิมๆ ผู้แทนบางท่านได้เป็นกรรมการถึง 3 วาระติดต่อกันซึ่งผิดต่อมาตรา 10 ของพ.ร.บ. ประกันสังคม ที่กล่าวว่ากรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจะได้รับการแต่งตั้งอีกเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
ในช่วงปี 2533-2553 มีกรรมการส่วนนายจ้าง ลูกจ้างและที่ปรึกษา ที่กระทำผิดกฎหมายนี้จำนวน 9 ท่านด้วยกัน
นอกจากนี้ วาระของคณะกรรมการชุดที่ 9 ก็มีเวลาเกิน 2 ปี (20 ก.พ. 49 – 9 มิ.ย. 52) ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และผู้แทนบางท่านยังเป็นผู้ลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ผู้แทนเหล่านี้ สามารถดำรงตำแหน่งได้อย่างยาวนานนั้น เป็นเพราะว่าผู้แทนเหล่านี้สามารถยึดกุมการนำในสภาองค์การลูกจ้าง ‘ขนาดใหญ่’ ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่สำนักงานประกันสังคมยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ที่นับว่าสภาองค์การลูกจ้าง เท่านั้นที่เป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงานที่ ‘ชอบธรรม’ ในระดับชาติของขบวนการแรงงานทั้งประเทศ เมื่อ สปส. ยึดติดว่าผู้นำจากสภาองค์การฯ เท่านั้นที่เป็นตัวแทนแท้จริงของแรงงานไทย ทำให้ สปส. มีตัวบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าเป็นกรรมการไตรภาคีน้อยมาก ด้วยทางเลือกที่จำกัดเช่นนี้เองที่อาจทำให้ตัวแทนแรงงานในกรรมการไตรภาคีของ สปส. มีคุณภาพที่จำกัด ทั้งในแง่ความรู้ ความสามารถ และความโปร่งใสในแง่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล
ในปัจจุบันตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง เป็นแค่ตัวแทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนไม่เกิน 3 แสนคนที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ซึ่งคิดเป็น 3% ของผู้ประกันตนเท่านั้น
และยังไม่นับปัญหาที่สภาองค์การลูกจ้าง ‘ขนาดใหญ่’ หลายแห่งต่างประสบกับข้อกล่าวหาว่า มีสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงาน ‘กระดาษ’ จำนวนมาก
สภาองค์กรนายจ้างบางสภาก็เข้าข่ายเป็นสภากระดาษในลักษณะเดียวกัน
ในปี พ.ศ. 2552 กระทรวงแรงงานได้ประกาศระเบียบเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวแทนลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคีของภาครัฐ โดยให้มีการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ต้องเป็นสมาชิกสหภาพ หรือสภา ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เช่นเดิม ในที่สุดแล้วเราก็จะได้ผู้แทนนายจ้างลูกจ้างหน้าตาเดิมๆ แต่เราจะเสียเงินเพื่อจัดการเลือกตั้งมากขึ้น เจริญดีมั๊ยกระทรวงแรงงานของไทย
ปัญหาเรื่ององค์ประชุมของกรรมการก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต่อเนื่องมาจากโครงสร้างและความสามารถไม่เต็ม ของคณะกรรมการ
คณะกรรมการประกันสังคมมีทั้งหมด 15 ท่าน ดังนั้น การมีกรรมการร่วมประชุม 8 ท่านก็สามารถประชุมตัดสินโครงการสำคัญๆ ที่เป็นผลเสียแก่กองทุนได้ ถ้ากรรมการฝ่ายลูกจ้างรวมตัวกัน 5 ท่านก็สามารถตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ได้ เช่น
เมื่อสิ้นปี 2551 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้เสนอให้ สปส. ใช้เงินกว่า 1,000 ล้านบาท ซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน 9 ล้านคน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับอะไรจากประกันสังคม ปรากฏว่ากรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง จับมือกันเห็นด้วยและยังพาดพิงไปถึงโครงการคอมพิวเตอร์ 2,300 ล้านบาท (เดิมเป็น 2,800 ล้านบาท) ว่าไม่ถึงมือผู้ประกันตนแต่โครงการนี้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ตรงๆ เมื่อให้มีการลงคะแนนเสียงลับจากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 8 ท่าน มี 5 ท่านที่เห็นด้วย มี 1 ท่านไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 1 ท่าน อย่างไรก็ดี โครงการซื้อข้าวสารนี้ได้ถูกเลิกไปในภายหลัง
ตามเงื่อนไขของกฎหมายทำให้คนเพียง 5 คนก็สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตของคนกว่า 10 ล้านคนได้เลย กฎหมายประกันสังคมของไทยมันโบราณเกินไปกับสถานการณ์ปัจจุบันเสียแล้ว
ต่อจากความเดิมจากตอนที่แล้วชี้ให้เห็นปัญหากรรมการประกันสังคมที่ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของผู้ประกันตน และต่อไปถึงความโบราณของกฎหมายประกันสังคม
กฎหมายประกันสังคมไม่ได้มีการกล่าวถึงความขัดแย้งของผลประโยชน์ หรือคุณสมบัติที่ไม่สมควรของกรรมการและอนุกรรมการต่างๆ สปส. เองก็มิเคยใส่ใจที่จะมีระเบียบในเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ หรือการมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งๆ ที่เป็นกองทุนที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศ เงินสะสมกองทุนกำลังจะถึง 1 ล้านล้านบาทในอีกไม่ช้า
ย้ำอีกครั้งเราให้คน 5 คน ที่เป็นตัวแทนของคน 3 แสนคน มาดูแลคุณภาพชีวิตคนกว่า 10 ล้านคน ที่สะสมเงินไว้เกือบ 1 ล้านล้านบาท เพื่อหวังว่าจะได้ใช้ตอนแก่ชรา คน 5 คนนี้มีความสามารถ มีความรับผิดชอบ และมีจริยธรรมเหมาะสมกับงานหรือไม่
กรรมการหรืออนุกรรมการที่ถูกคัดเลือกเข้ามามีแนวโน้มที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนมากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกันตน ในขณะที่ตัวแทนฝ่ายรัฐเองก็ไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกรรมการมีดังนี้ (ชื่อสมมุติ แต่เหตุการณ์จริง)
นาย ก. ซึ่งเป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จัดตั้งบริษัท โปร่งใสไร้ทุจริต จำกัด ในปี 2543 เพื่อรับบันทึกข้อมูลให้สำนักงานประกันสังคม ในการประมูลงาน จ้างบันทึกข้อมูลเงินสมทบตามแบบ สปส.1-10 จำนวน 5 ครั้ง ได้รับการจัดจ้างทั้งหมด 21.8 ล้านบาท
ที่ผ่านมามีกรรมการแพทย์หลายท่านเป็นเจ้าของ ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการ โรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งกรรมการแพทย์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราเหมาจ่ายรายหัวให้แก่โรงพยาบาลคู่สัญญาด้วย
เคยมีนักวิเคราะห์กล่าวว่า การเพิ่มวงเงินค่ารักษาแก่ผู้ประกันสังคม 4 รายการ คือค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร ค่าทันตกรรม และค่ารักษากรณีทุพพลภาพ รวมทั้งเพิ่มสิทธิ 2 รายการ คือ การใส่รากฟันเทียมและการรักษาโรคจิต ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% จะส่งผลดีต่อกำไรของหุ้นโรงพยาบาล ABC
การบริหารจัดการแบบขาดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ส่วนหนึ่งก็สามารถเชื่อมโยงไปกับความโบราณของกฎหมาย เช่น มาตรา 24 ของ พ.ร.บ. ประกันสังคม ที่ให้คณะกรรมการอาจจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละสิบของเงินสมทบของแต่ละปีเพื่อจ่ายค่าเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงาน ในกรณีที่เงินกองทุนไม่พอจ่ายให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินทดรองราชการให้ตามความจำเป็น
กรรมการหรือแม้แต่ข้าราชการหลายท่านตีความกฎหมายว่า ในอนาคตถ้าเงินกองทุนประกันสังคมลดลงจนไม่พอจ่ายเงินบำนาญชราภาพ (อีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า) รัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วย ซึ่งแท้จริงการที่รัฐจะทดรองจ่ายให้ตามความจำเป็น ไม่ได้รับรองเลยว่ารัฐจะช่วยอุดหนุนการขาดดุลของกองทุนทั้งหมด ความเชื่อเช่นนี้เป็นสถานการณ์เหมือนกับการมีการค้ำประกันเงินฝาก 100% เมื่อผู้บริหารกองทุนมีความเชื่อว่ามีการรับประกันจากรัฐในการช่วยเหลือทั้ง 100% ที่ขาดดุล (หรือเชื่อว่าอีก 30 ปีข้างหน้าฉันไม่ได้เป็นกรรมการแล้วซึ่งเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล) ก็ไม่สนใจที่จะบริหารจัดการเงินกองทุน ให้มีประสิทธิภาพ ไม่สนใจอนาคตของกองทุนว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงใดและควรจะแก้ปัญหาอย่างไร
รัฐบาลมักติดหนี้การจ่ายเงินสมทบแก่กองทุนประกันสังคมมาโดยตลอด เราหวังได้อย่างไรว่ารัฐจะมีเงินช่วยเหลือเมื่อกองทุนมีปัญหาในอนาคต
จำนวนเงินร้อยละสิบของเงินสมทบนั้นเป็นเงินมหาศาล ในปัจจุบันคิดเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท มากพอกับเงินงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ทั้งกระทรวง คณะกรรมการชุดปัจจุบันพยายามหาทางถลุงยังไงก็ใช้ไม่ถึง ก็เลยเสนอแก้กฎหมายให้สามารถใช้เงินนี้ในการ “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ด้วย ต้องติดตามกันต่อไปว่าการเสนอแก้กฎหมายชั้นเทพนี้จะผ่านไฟเขียวหรือไม่
เงินบริหารจัดการจำนวนมากนี้คณะกรรมการและข้าราชการบางท่านก็หาทางละเลงกันเละเทะ (ข้าราชการส่วนใหญ่ของ สปส. ยังเป็นคนดีอยู่) งบเช่าระบบคอมพิวเตอร์และทำฐานข้อมูล 2,300 ล้านที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ก็มาจากกองนี้ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ล่มรายวันอยู่ทุกวันนี้นี่แหละ ละเลงเละเทะจึงมิใช่วาจาที่เกินเลยไป
จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่า 1 ล้านบาทขึ้นไปของสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่ปี 2547-2553 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล คอมพิวเตอร์ เครือข่าย และไอทีต่างๆ ประมาณ 4,860 ล้านบาท ค่าซ่อมแชมตึกและอาคาร 314 ล้านบาท ค่าจ้างพิมพ์บันทึกข้อมูล 218 ล้านบาท ค่าซื้อรถยานพาหนะ 70 ล้านบาท
แม้ว่าจะมีการลงทุนในระบบไอทีไปจำนวนมากมหาศาล แต่ สปส. ก็ยังคงใช้การนำข้อมูลเข้าแบบเก่า คือ ให้นายจ้างส่งแบบฟอร์มรายชื่อผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเป็นกระดาษ และต้องจ้างบริษัทในการพิมพ์ข้อมูลเข้า และมีบริษัทที่ได้รับงานประจำที่มีเจ้าของเป็นกรรมการฯ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และที่เท่ห์กว่านั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยังมีอนุกรรมการเป็นเจ้าของบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับ สปส. อีกด้วย
อีกกรณีหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงการจัดซื้อจัดจ้างบริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไม่มีประสิทธิภาพคือ เมื่อสิ้นปี 2546 คณะกรรมการได้อนุมัติการจัดสรรเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการประกันสังคมกรณีว่างงาน จำนวน 394 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ระบบทะเบียนการประกันว่างงานหรือเงินสมทบประเภทอื่นๆ ก็สามารถใช้ระบบเดียวกันได้อยู่แล้ว การมีประกันว่างงานมิได้ต้องการระบบสารสนเทศใหม่เลย การอนุมัติงบ ณ สิ้นปีก็มีลักษณะทิ้งทวน เพราะเมื่อเริ่มปี 2547 ซึ่งมีการเลือกกรรมการชุดใหม่เข้ามาก็จะไม่ติดตามถามเรื่องเก่า และทำให้ปี พ.ศ. 2547 ก็มีงบภาระผูกพันที่อนุมัติไปในปี 2546 ถึง 590 ล้านบาท
ตัวอย่าง รายการอนุมัติเงินของคณะกรรมการเกี่ยวกับระบบข้อมูลและเทคโนโลยี เช่น
ปี 2547 โครงการจัดหา/จัดเช่า/ติดตั้ง/บำรุงรักษา CPU เมนเฟรม และระบบปฏิบัติการ OS/390, z/VM และ Linux เพื่อทดแทนและเตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศระบบเปิดของสำนักงานประกันสังคม 356 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและอุปกรณ์สำรอง 350 ล้านบาท
ปี 2549 การเช่าใช้โปรแกรมลิขสิทธิ์ OS/390 54 ล้านบาท
ปี 2550 โครงการจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน 2,894 ล้านบาทการดำเนินการโครงการเช่าและใช้บริการสื่อสารข้อมูล 360 ล้านบาท
ปี 2553 อนุมัติโครงการเช่าระบบบริการข้อมูลศูนย์บริการข้อมูล 1506 พร้อมจัดหาบุคลากรในการให้บริการ 93 ล้านบาท (อนุมัติก่อหนี้ผูกพันโครงการเช่าระบบบริการข้อมูลศูนย์บริการข้อมูล 1506 จำนวน 560 ล้านบาท) ค่าเช่าและใช้บริการสื่อสารข้อมูล ต่อเนื่องสัญญาเดิมและเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ ต่อเนื่องสัญญาเดิม ค่าเช่าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ประมวลผลระดับสูง 48 ล้านบาท ค่าเช่า/จ้าง ระบบคอมพิวเตอร์และบำรุงรักษาระบบสารสนเทศต่อเนื่องสัญญาเดิม 56 ล้านบาท ปรับปรุงห้องปฎิบัติการและห้องเครื่องศูนย์คอมพิวเตอร์ 32 ล้านบาท
ตัวอย่าง การใช้จ่ายเงินบริหารจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพอีกเรื่อง คือ การไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งโดยหลักการแล้วการดูงานที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาพัฒนาการบริหารจัดการได้จริงเป็นสิ่งที่ดี แต่การบริหารจัดการของคณะกรรมการแบบที่เราเห็นเป็นประจักษ์นั้นช่วยบอกว่าการไปดูงานต่างประเทศของกรรมการค่อนข้างไร้ประโยชน์ ในขณะที่การไปอบรมปรับเพิ่มความรู้ให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานจริงกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรรมการเท่าที่ควร
การใช้จ่ายเพื่อการประชาสัมพันธ์ เป็นอีกเรื่องที่ไม่โปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลก็ไม่มีเช่นกัน
โดยรวมแล้วการใช้เงินที่มาจากเงินสมทบนี้ขาดกลไกการตรวจสอบที่ดี กรรมการและข้าราชการระดับแกนนำสามารถละเลงได้ หนทางเดียวที่กรรมการจะแสดงความรับผิดชอบมากขึ้นในการใช้เงินส่วนนี้ คือ การเปิดเผยรายงานการประชุมของกรรมการและอนุกรรมการทุกชุดโดยเฉพาะเรื่องการอนุมัติเงินบริหารจัดการที่มาจากเงินสมทบ ให้ผู้ประกันตนรับทราบ ผ่านช่องทางเว็บไซด์หรือเปิดเผยแก่สื่อสาธารณะ
ขอให้สังคมช่วยกันคนละไม้คนละมือช่วยกัน อย่าลืมว่าแม่ค้าทอนเงินให้เราไม่ครบไปหนึ่งบาท เรายังทวงคืน เงินที่ถูกละเลงหายไปกับการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพมันมากกว่านั้นอีก แม้เงินนี้ท่านอาจจะไม่ได้ใช้ แต่ลูกหลานหรือญาติของท่านจะได้ใช้แน่นอน
ผู้เขียน ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย www.facebook.com/ssowatch.thailand
ที่มา: http://www.thanonline.com
- 27 views