ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบ คกก.บริหารระดับเครือข่าย 12 พื้นที่เดินหน้าบรรจุข้าราชการตามมติ ครม. ชี้ใช้ 6 เกณฑ์พิจารณาเลือกสัดส่วนที่เหมาะสม ด้านพนักงาน ก.สธ.อยู่ระหว่างปรับระเบียบเงินบำรุง
จากการที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สายวิชาชีพเป็นข้าราชการ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ฯลฯ จำนวน 22,641 อัตรา จากทั้งหมด 30,188 คน เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตรา จนครบ 3 ปี ส่วนที่เหลือระหว่างรอการบรรจุเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พนักงาน ก.สธ.) นั้น
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการตามตำแหน่งที่ได้รับมา 22,641 อัตรา โดยมีตัวแทนเครือข่ายบริการสุขภาพจากทั่วประเทศ 12 พื้นที่บริการสุขภาพ และผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ทั่วไป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตัวแทนจากสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และตัวแทนจาก รพ.ชุมชนเข้าร่วม เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาว่า หลังจาก ครม.มีมติอนุมัติตำแหน่งดังกล่าว จำเป็นต้องมีการหารือเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกบุคลากรในแต่ละสายวิชาชีพให้ได้รับการบรรจุในสัดส่วนที่เหมาะสม ในปีแรกมีจำนวน 7,547 อัตรา ซึ่งผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
"1.การจัดสรรตำแหน่งให้กับทุกเครือข่าย ให้พิจารณาตามจำนวนของลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2551 ลงไป จำนวน 18 สายงาน ที่ใช้วุฒิคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่ ก.พ.กำหนด โดยแต่ละเครือข่ายจะได้เท่าใด ขึ้นอยู่กับจำนวนของลูกจ้างชั่วคราว 18 สายงานที่มีอยู่ 2.กลไกการบริหารจัดการตำแหน่ง จะใช้คณะกรรมการบริหารระดับเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้อำนวยการ รพ.ศูนย์/ทั่วไป นพ.สสจ. ตัวแทนจาก สสอ. และตัวแทนจาก รพ.ชุมชน เป็นคณะกรรมการร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการบริหารตำแหน่ง 3.ตำแหน่งที่แต่ละเครือข่ายได้ไป ให้ใช้หลักเกณฑ์การจัดสรรตามมติ ครม. 6 ข้อ คือ 1.ต้องจัดสรรให้ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล 2.รพ.ที่ขาดสภาพคล่องทุกระดับ 3.รพ.ในเขตทุรกันดาร 4.รพ.ชุมชนที่เปิดใหม่ 5.รพ.ทั่วไปที่มีภาระงานหนัก และ 6.หน่วยงานที่มีภารกิจพิเศษ เช่น การบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพเด็ก และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ รวมทั้งเรื่องยาเสพติดด้วย" นพ.ณรงค์กล่าว
ปลัด สธ.กล่าวว่า จะบรรจุให้ได้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ รวมทั้งได้ให้แต่ละเครือข่ายจัดทำแผนบริหารตำแหน่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ควบคู่ไปกับแผนกำลังคนของเครือข่าย และแผนพัฒนาตามระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ สำหรับข้อกำหนดที่วางไว้ คือ ผู้ที่ได้รับการบรรจุในตำแหน่งที่จัดสรรลงไปนั้น จะต้องไม่มีการขอย้าย ยืมตัว ภายใน 3 ปี ให้ตรึงตำแหน่งไว้ในเครือข่าย ส่วนลูกจ้างชั่วคราวที่ยังไม่ได้ บรรจุนั้น จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงาน ก.สธ.แทน ซึ่งระเบียบพนักงาน ก.สธ.นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะต้องมีการปรับแก้ระเบียบเงินบำรุงของ สธ. ให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมด สามารถนำเงินบำรุงจ่ายเป็นเงินเดือนประจำแก่พนักงาน ก.สธ.รวมทั้งค่าทำงานล่วงเวลาต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ครอบคลุม เบื้องต้นจะเดินหน้าให้ได้เร็วที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 มกราคม 2556
- 4 views