ตลอดระยะเวลาเกือบปีที่ผ่านมาชื่อของ "เมียนมาร์" ก้าวขึ้นติดอันดับประเทศที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสนใจ หน้าหนังสือพิมพ์รายวันปรากฏความเคลื่อนไหวของเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง พัฒนาการของเมียนมาร์นั้นหลากหลายในสายตาของนานาชาติ ประเด็นเล็ก ๆ ที่สำคัญแต่ไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพูดในสังคม คือ "ชาวเมียนมาร์" เป็นอยู่อย่างไรใน พ.ศ.นี้ กิน-อยู่และได้รับการดูแลเช่นไรในทุกวันนี้
การเข้าถึงสาธารณสุขของเด็กและเยาวชนเป็นอีกประเด็นสำคัญที่เมียนมาร์ต้องเผชิญ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง ร่วมกับสายการบินแอร์เอเชีย และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ต่างเล็งเห็นความสำคัญในประเด็นนี้ โดยเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือโรคหัวใจเด็ก ที่เมียนมาร์ยังขาดบุคลากร ความรู้ และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ จึงเกิดโครงการ "ผ่าตัดโรคหัวใจเด็ก"
เมียนมาร์ซึ่งขณะนี้มีกุมารแพทย์หัวใจเด็กเพียงคนเดียว ต้องผลักดันด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศอีกมากหลังจากปิดประเทศมานาน
"ขิ่น มัง กู" กุมารแพทย์หัวใจเด็กเพียงหนึ่งเดียวในเมียนมาร์ กล่าวว่า การร่วมงานกับหน่วยงานของไทย เพื่อคัดเลือกเด็กที่ป่วยไปผ่าตัดที่ไทยในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาวิทยาการความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจเด็กเพิ่มขึ้น เนื่องจากตนจะใช้โอกาสนี้เดินทางมายังไทย เพื่อศึกษาเพิ่มเติมในเทคนิคการผ่าตัดหัวใจเด็ก เนื่องจากในประเทศเมียนมาร์ ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดหัวใจ เด็กเลย
นอกจากการคัดเลือกเด็กชาว เมียนมาร์เพื่อมารับการผ่าตัดในประเทศไทยแล้ว สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงย่างกุ้ง ยังจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องโรคหัวใจเด็ก เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างแพทย์จาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กับกุมารแพทย์ชาวเมียนมาร์ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วม การสัมมนากว่า 80 คน
"ปรีชา เลาหคุณากร" แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเด็ก จาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การคัดเลือกเด็กเมียนมาร์ที่ป่วยเป็น โรคหัวใจครั้งนี้ถือว่าลำบากมาก เพราะมีเด็กที่เข้ามารับการคัดเลือกจำนวนมาก และต้องคัดให้เหลือ 6 คน ซึ่งแต่เดิมแอร์เอเชียวางแผนไว้ว่าจะสนับสนุนทุนเพียง 2 คน กระทั่งทีมแพทย์ได้แจ้งถึงสถานการณ์ในการคัดเลือกแอร์เอเชียก็ยินดีที่จะสนับสนุนเงินทุนรักษาสำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจไปผ่าตัดเพิ่มขึ้นอีก 4 คน รวมทั้งหมด 6 คน และเดินทางมารับการผ่าตัด ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัจจัยการคัดเลือกตัวเด็กไปผ่าตัด ต้องคำนึงถึงความพร้อมของสภาพร่างกายเด็กในทุก ๆ ด้าน นับแต่วันคัดเลือกจนถึงวันที่จะเข้าผ่าตัด
"ทัศพล แบเลเว็ลด์" ซีอีโอแอร์เอเชีย เผยว่า ค่าผ่าตัดหัวใจเด็กราว 500,000 บาท/คน ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าเดินทาง ที่พัก ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลผู้ปกครองเด็กชาวพม่าที่เดินทางมาผ่าตัดด้วย เบื้องต้นเด็กทั้ง 4 คนที่แอร์เอเชียต้องการช่วยเหลือ เราตั้งงบฯไว้ที่ 2 ล้านบาท แต่หากแต่ละเคสต้องดูแลระยะยาว ก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะรักษาเด็กโรคหัวใจเหล่านี้จนกว่าจะมีอาการดีขึ้น
เพื่อยืนยันถึงความจริงจังและจริงใจในการช่วยเหลือ และเชื่อมความผูกพันระหว่างธุรกิจไทยกับชาวเมียนมาร์ อย่างที่ "นาว์ พาหา โซว์" วัย 30 ปี แม่ของเด็กชาวเมียนมาร์ที่ถูกคัดเลือกมารับการผ่าตัดที่ไทยกล่าวว่า "ขอขอบคุณทางการไทยเป็นอย่างมากในการช่วยให้ลูกได้รับการผ่าตัดครั้งนี้ ถือว่าตนโชคดีเป็นอย่างมาก"
แล้วความช่วยเหลือเกื้อกูลเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นประตูเบิกทางให้คนไทยและธุรกิจไทยเป็นที่ไว้วางใจและ เชื่อใจแก่ชาวเมียนมาร์ในระยะยาว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 - 9 ม.ค. 2556--
- 13 views