สสส. ม.มหิดล จับมือ WHO พร้อมประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ร่วมพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยกไทยเป็นแบบอย่าง รุดหน้าสำรวจยอด NCDs ก้าวหน้างานสร้างเสริมสุขภาพ
วันที่ 28 มกราคม 2563 ที่โรงแรมริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี จัดพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการและลงนามเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มประเทศอาเซียน (กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ องค์การอนามัยโลก พร้อมภาคีเครือข่ายในประเทศไทยและอาเซียน นำโดย ศ.ดร.สุภา เพ่งพิศ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
NCDs เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง สสส. และ WHO ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในปี พ.ศ. 2558 ร่วมมือกันพัฒนาโครงการสร้างเสริมสุขภาพใน 6 ด้าน เพื่อจัดการปัญหา NCDs และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ได้แก่ พัฒนานโยบายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอลล์ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ส่งเสริมสุขภาวะในโรงเรียน พัฒนาระบบเฝ้าระวังการบริโภคเกลือ พัฒนาระบบเฝ้าระวังการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสาธารณสุขมูลฐานเพื่อการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มประเทศอาเซียน (กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม) นี้เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานเทียบเคียงกันได้ในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการพัฒนาศักยภาพนักวิชาการด้านระบบเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งเพื่อการศักยภาพ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหา NCDs ในภูมิภาค หัวหน้าโครงการจากประเทศกัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม และ ผู้แทนสสส. ได้ลงนามเข้าร่วมโครงการร่วมกันอย่างเป็นทางการ ก่อนเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว
นพ.วิศัลย์ มูลศาสตร์
นพ.วิศัลย์ มูลศาสตร์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า การควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นวาระที่ทุกภูมิภาคในโลกต้องให้ความสำคัญ โดยประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 ทั้งหมด 17 ข้อ มุ่งหวังแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ หนึ่งในนั้นคือเป้าหมายข้อ 3 (รับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ) ซึ่งเป้าหมายข้อดังกล่าวมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนเล็งเห็นความรุนแรงของปัญหาโรค NCDs จึงดำเนินมาตรการที่หลากหลาย เพื่อควบคุมป้องกันปัญหาโรค NCDs ภายในประเทศ มีมาตรการสำคัญคือการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน การเฝ้าระวังโรคและปัจจัยเสี่ยง
“NCDs เป็นปัญหาที่ลึกซึ้ง เพราะปัจจัยการเกิดโรคมีหลากหลายมิติ การออกแบบชุดข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์จึงมีความยากซับซ้อน เป็นเหตุให้แต่ละประเทศมีตัวชี้วัดแตกต่างกัน และถูกรวบรวมวิเคราะห์อย่างไม่ต่อเนื่อง ไม่เพียงกระทบต่อระบบการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคและปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อในประเทศ แต่ยังกระทบต่อการเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างประเทศด้วย” นพ.วิศัลย์ กล่าว
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง และพบว่ากว่าร้อยละ 85 ของกลุ่มที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งรวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนของเราด้วย ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลปี 2559 พบว่าโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 74 ของสาเหตุการตายทั้งหมด
“สสส.สนับสนุนให้สมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม รวมกลุ่มกันออกแบบระบบกำกับติดตามกลุ่มโรคดังกล่าว ให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกัน เพื่อประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายระดับชาติ กำหนดวิธีป้องกันดูแลสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาประเทศในอาเซียนใช้เครื่องมือ WHO-STEPs เก็บข้อมูลสถานการณ์โรค NCDs แต่สำหรับไทยมีความรุดหน้าไปมาก เพราะได้ทำการสำรวจสุขภาพประชากรไทยไปแล้ว ทั้งยังจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพขึ้น เพื่อติดอาวุธความรู้ให้คนไทยรู้จักดูแลตัวเอง ลดการป่วยด้วยโรค NCDs ทำให้คนไทยมีชีวิตที่ยืนยาวยิ่งขึ้น” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว
- 147 views