เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ในปี 2556 ทาง อภ.มีแผนที่จะพัฒนาการผลิตน้ำเกลือ เนื่องจากเมื่อช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่นั้น มีโรงงานผลิตน้ำเกลือรายใหญ่ได้รับผลกระทบทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเกลือขึ้น จนส่งผลให้ต้องนำเข้าน้ำเกลือจากประเทศเพื่อนบ้าน ในแต่ละเดือนจะมีการนำเข้าน้ำเกลือประมาณ 1 ล้านถุง ดังนั้น ถึงแม้ว่าขณะนี้โรงงานผลิตน้ำเกลือรายดังกล่าวที่เคยได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม จะกลับมาผลิตได้เกือบ 100% แล้วก็ตาม อภ.จะผลิตน้ำเกลือสำรองเก็บกักตุนไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน โดยจะต้องสำรองไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านถุง เพื่อจะได้สร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเกลืออีก ซึ่งขณะนี้ก็ผลิตได้ประมาณ 1 ล้านกว่าถุงแล้ว และปริมาณน้ำเกลือที่จะผลิตทาง อภ.ตั้งเป้าว่าจะผลิตขนาดตั้งแต่ 100-1000 ซีซี และจะตรวจทานระบบการผลิตน้ำเกลือควบคู่ไปด้วย
นพ.วิทิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในปีหน้า 2556 อภ.ยังมีแผนที่จะผลิตยาชื่อสามัญ หรือการผลิตยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะผลิตยาในกลุ่มที่ประชาชนมีการใช้เป็นจำนวนมาก เช่น ยาโรคเบาหวาน ยาความดันโลหิตสูง และยาเอดส์ เป็นต้น เพื่อให้ราคายาถูกลง อาทิ จาก 100 บาท ก็จะทำให้ราคาลดลงจากเดิมประมาณร้อยละ 70-80 คือ จาก 100 เหลือประมาณ 20-30 บาท โดยการผลิตยาชื่อสามัญนั้นจะเริ่มต้นที่ยาเอดส์ก่อนและถ้าผลักดันยาเอดส์สำเร็จ ก็จะผลักดันยาเบาหวานต่อ และตามด้วยยาชนิดอื่นๆ ตามลำดับ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและทำให้มีการเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น
"เนื่องจากในปี 2558 ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน เราจึงควรใช้ยาชื่อสามัญมากขึ้น เพราะว่าจะต้องมีการแข่งขันกัน ดังนั้น ไทยต้องลดการนำเข้ายาดังกล่าว ที่ไทยมีการนำเข้ายาถึง ร้อยละ 70 เพราะฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนสมดุลให้เป็นยาในประเทศร้อยละ 50-60 ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กับการควบคุมคุณภาพและราคาที่เหมาะสม" ผู้อำนวยการ อภ.กล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 2 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 2 views