หลังไทยดำเนินยุทธศาสตร์ "ศูนย์กลางทางการแพทย์ภูมิภาคอาเซียน" หรือ "Medical Hub" ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงขณะนี้ผ่านมาร่วม 8 ปี การบริการทางการแพทย์ของไทยขณะนี้ได้ก้าวขึ้นสู่ระดับชั้นแนวหน้าเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในแต่ละปีจึงมีผู้ป่วยต่างชาติเข้ารักษากว่า 2.5 ล้านคนต่อปี นำรายได้เข้าประเทศปีละ 1.2 แสนล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 คาดว่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่เกือบ 1.5 แสนล้านบาท จุดแข็งของไทยที่ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งในภูมิภาค อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปินส์ และอินโดนีเซียน นอกจากความเอื้อเฟื้อในบริการ ราคาค่ารักษาพยาบาลที่ไม่แพงและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว คุณภาพและมาตรฐานการรักษายังเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ให้การรักษา ซึ่งมีระดับอาจารย์แพทย์อยู่เป็นจำนวนมาก
วันนี้นโยบายจึงไม่ได้หยุดที่ศูนย์กลางทางการแพทย์ภูมิภาคเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่เริ่มมีการผลักดันให้ประเทศไทยขยับก้าวขึ้นสู่ "ศูนยกลางการศึกษาด้านการแพทย์" หรือ "Medical Education Hub" ของภูมิภาคอาเซียน เมื่อโรงพยาบาลเอกชนขออบรมแพทย์ต่างชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ถ้าโรงพยาบาลเอกชนไม่ดีจริงคงเปิดสอนแพทย์ไม่ได้ ทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นฐานความมีชื่อเสี่ยงด้านวิชาการของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อเป็นภาพพจน์ของเขา เพราะจุดขายของเราคือความแข็งแรงด้านวิชาการ ถ้าทำให้ภาคเอกชนมีความเป็นเลิศด้านวิชาการ คนต่างชาติจะรู้สึกเชื่อถือ เพราะเข้ามารักษากับโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนฝึกอบรมแพทย์ก็จะเชื่อมือมากกว่า แพทย์ต่างชาติที่เข้ามาเรียนจะต้องเรียนจบแพทย์แล้ว เพราะโรงพยาบาลเอกชนเพียงแต่เปิดเป็นสถานฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นการมาต่อยอด ประโยชน์ที่ได้นับเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันแทนที่แพทย์จะสมองไหลไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนอยู่เฉย ๆ ถ้าแพทย์ที่ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนเป็น รศ.นพ. หรือ ศ.นพ. มาสอนแค่สัปดาห์ละ 10 ชม. เราก็ได้อาจารย์แพทย์ดี ๆ เพิ่มขึ้น แทนที่จะปล่อยให้คนเหล่านี้ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนแล้วไม่ทำอะไรเลย
ส่วน โรงพยาบาลเอกชนจะเปิดการสอนแพทย์ต่างชาติหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสนใจ เพราะบางทีสามารถทำได้แต่อาจไม่สนใจเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์ก็ได้ ขณะที่แพทย์เองต้องดูว่าต้องการเพิ่มความเชี่ยวชาญในการรักษาด้านใดเป็นพิเศษก็ต้องเลือกเรียนในโรงพยาบาลเอกชนที่เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าว
"ตอนนี้แพทยสภากำลังจะเปิดโอกาสให้มีใบอนุญาตชั่วคราวเอาหมอจากต่างประเทศเข้ามา แทนที่จะส่งหมอไปเรียน 1 คนเขามาสอนที่ประเทศไทย 30-40 คนได้ก็ย่นระยะเวลาการเรียนรู้และเพิ่มปริมาณได้ ก็ทำทุกวิถีทาง ตอนนี้กำลังกำลังทำใบอนุญาต
ขณะที่การส่งแพทย์ไปเรียนเมืองนอกมีขั้นตอนมากมาย แถมบังคับให้เริ่มต้นเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านใหม่ บางทีแพทย์ไทยจบแพทย์ประจำบ้านแล้วแต่ต้องไปเป็นแพทย์ประจำบ้านที่เมืองนอก 5 ปีด้วย เพื่อสอบใบประกอบโรคศิลป์ดังนั้นการเชิญอาจาย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาสอนในไทยน่าจะดีกว่า โดยทางแพทยสภาออกใบอนุญาตชั่วคราวให้เข้ามาสอนและรักษาผู้ป่วยได้
ด้านนพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยไม่ได้ต้องการเป็นเพียงเมดิคัล ฮับ แต่ต้องการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านการแพทย์ของภูมิภาคนี้ด้วย ซึ่งเรามีศักยภาพทำในเรื่องนี้ได้ เพราะนอกจากมีโรงเรียนแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับอาจารย์อยู่จำนวนมาก สามารถเปิดสอนชาวต่างชาติได้ ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียนแพทย์บางแห่งได้รับนักศึกษาแพทย์ต่างชาติเข้าเรียนอยู่แล้วบางส่วน ทั้งจากประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า เป็นต้น แพทยสภาเห็นด้วยและพร้อมให้การสนับสนุน เนื่องจากมองว่าได้ประโยชน์ ไม่เพียงเป็นการนำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น แต่ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการแพทย์ให้เป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้นไปอีก การอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มโรงเรียนแพทย์เท่านั้น แต่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของไทยต่างมีศักยภาพทำได้เช่นกัน ทั้งเปิดสอนทั้งแพทย์ไทยและต่างชาติ เพราะต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่บางแห่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่าคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยบางแห่งด้วยซ้ำ มีจำนวนเป็นร้อยคน ทั้งยังเป็นแพทย์ระดับอเมริกันบอร์ด ดังนั้นการเปิดหลักสูตรอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสำหรับโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก การอบรมแพทย์ชาวต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นส่วนเข้ามาช่วยเสริม โดยแพทย์ต่างชาติที่มาเรียน อบรมเพิ่มเติมนี้ไม่ได้เบียดโควต้าการเรียนของแพทย์ไทยในโรงเรียนแพทย์ เพราะเรียนในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ต่างมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ก่อนเปิดอบรมโรงพยาบาลเอกชนต้องขออนุมัติหลักสูตรจากทางแพทยสภาเช่นกัน รวมถึงจากราชวิทยาลัยแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางศึกษาด้านการแพทย์ส่งผลดีต่อแพทย์ไทยโดยเฉพาะสาขาผ่าตัดโรคซับซ้อน อย่างการผ่าหัวใจหรือเปลี่ยนอวัยวะ เพราะสาขาแพทย์เหล่านี้ประเทศสหรัฐฯ สงวนการเรียนเฉพาะคนอเมริกัน ไม่เปิดสอนแพทย์จากประเทศอื่น ยกเว้นบางกรณี ที่ผ่านมาจึงมีแพทย์ไทยจบอเมริกันบอร์ดน้อยมาก ต่างจากยุคสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ จึงเปิดกว้างรับสมัครแพทย์จากประเทศอื่นๆ เข้าเรียน ทำให้มีแพทย์ไทยไปเรียนต่อเป็นจำนวนมากสมัยนั้น มากพอที่จนเปิดเป็นคณะแพทย์ได้
นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า แค่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในประเทศก็เปิดสอนและผลักดันดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางศึกษาด้านการแพทย์ของภูมิภาคได้แล้ว เพียงแต่การอบรมบางสาขาอาจต้องเชิญแพทย์ระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางพิเศษเข้ามาช่วยอบรมเพิ่มเติม เพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนแพทย์ให้แข็งแกร่งขึ้น แต่รัฐบาลเองต้องสนับสนุน เพราะการนำแพทย์ต่างชาติเข้ามาสอนในโรงพยาบาลเอกชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ... ต้องทำโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงเรียนแพทย์ของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนเชิญเองไม่ได้ หากรอแก้ไขกฎหมายก็คงต้องใช้เวลานาน
ด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเมดิคัล ฮับ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีศักยภาพ ขณะเดียวกันก็มีภาระ 2 ด้าน คือ การดูแลคนไทยและความท้าทายดูแลผู้ป่วยต่างชาติดึงรายได้เข้าประเทศ จากเดิมที่สร้างรายได้นับหมื่นล้านบาทต่อปี ขยับขึ้นไปอยู่ที่แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นทำอย่างไรไม่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยต่างชาติกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยไทย เพราะการดำเนินการนี้ต้องยอมรับว่าเราต้องใช้ศักยภาพของระบบรักษาพยาบาลไปเท่าไหร่ โดยเฉพาะจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกดึงไปใช้
ส่วนที่เสนอให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางการแพทย์นั้น คงเพราะมองเห็นว่าขณะนี้เราผลิตแพทย์ได้ปีละ 2,000 คน ในอนาคต 5 ปี ประเทศจะมีแพทย์เพียงพอ จึงเสนอให้มีการผลิตแพทย์ต่างชาติเพิ่ม แต่ทั้งนี้ก่อนอื่นเราควรจะผลิตแพทย์ให้เพียงพอก่อนแล้วจึงเดินหน้า ซึ่งคงไม่มีใครท้วงติงอย่างแน่นอน ซึ่งอยากให้มองความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 ธันวาคม 2555
- 30 views