ขณะที่มาตรการควบคุมและลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศไทยกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล มีการจำกัดทั้งการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เน้นสั่งจ่ายยาบัญชียาหลักแห่งชาติ
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยาเวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะอนุกรรมการระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาลและการเบิกจ่าย ได้นำเสนอความคืบหน้าการจัดทำแนวเวชปฏิบัติและข้อบ่งชี้การใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีราคาแพงเพิ่มเติมอีก 5 กลุ่ม รวมถึงแนวเวชปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูงเพื่อให้แพทย์ทำตามแนวทาง มุมมองกลุ่มโรงเรียนแพทย์ นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะรองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) บอกว่าการใช้ยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ หากใช้กันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ย่อมส่งผลต่อค่ารักษาที่เพิ่มขึ้น ประเทศอาจล่มจมได้ แต่ในทางตรงข้ามหากถูกจำกัด ไม่มีการใช้เลย จะทำให้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ของประเทศเสียไป จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงจะสมดุล.?
เมื่อมองบทบาทโรงเรียนแพทย์ นพ.สุธรรม บอกว่าโรงเรียนแพทย์มีหน้าที่หลักในการผลิตแพทย์รุ่นใหม่ ยาและเทคโนโลยีรักษาที่พัฒนาขึ้นใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนแพทย์ก้าวทันการรักษาใหม่ๆ แพทย์ 1 คนถึงจะเรียนจบแล้ว แต่จะรักษาผู้ป่วยได้จริงต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ดังนั้นหากเราใช้แต่ยาและเทคโนโลยีการรักษาที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาสอน นั่นหมายความว่าความสามารถของแพทย์จบใหม่ของประเทศจะถอยหลังไป 10 ปีเช่นกัน ถึงให้หมอมาพัฒนาความรู้ภายหลังก็ตามไม่ทันอยู่ดี จึงขึ้นอยู่ว่าเราจะเลือกวางประเทศให้อยู่จุดไหนของทางการแพทย์ เพราะทั้งยาใหม่และเทคโนโลยีการแพทย์เป็นสิ่งที่ต้องนำเข้าและแลกด้วยราคาที่แพง ที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์ถูกบีบงบประมาณค่ารักษาลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม รวมถึงระบบสวัสดิการข้าราชการที่เคยเป็นงบช่วยสนับสนุนในการใช้ยาและเทคโนโลยีใหม่ แต่เริ่มถูกจำกัดในช่วง 2 ปีมานี้ ทั้งการห้ามใช้ยานอกบัญชีรวมถึงมีการเตรียมออกเวชปฏิบัติการรักษาให้แพทย์ทำตาม สิ่งที่กังวลคือ สุดท้ายจะส่งผลให้การเรียนรู้ใช้ยาและเทคโนโลยีใหม่ๆ ลดลง การพัฒนาการรักษาถดถอย ไม่เพียงกระทบต่อการเรียนการสอน แต่ยังส่งผลถึงมาตรฐานแพทย์ไทยที่เรียนจบไป เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าความสามารถของแพทย์ที่จบจากประเทศต่างๆ ถูกตีราคาไม่เท่ากัน อย่างประเทศไทย พม่า ลาว และอินเดีย เป็นต้น ตอนนี้แพทย์ไทยยังอยู่ระดับใกล้เคียงกับแพทย์ประเทศพัฒนาแล้ว แต่หากไม่มีการแก้ไขปัญหา สุดท้ายความสามารถทางการแพทย์ของไทยก็จะเสียไป
"หากปล่อยไว้แบบนี้ ในระยะยาว เราจะขาดทรัพยากร ความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆ ขาดแพทย์เก่งๆ และไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เครื่องมือแพทย์ไม่ใช่ซื้อมาแล้วและใช้ได้เลย ต้องมีแพทย์ผู้ใช้ที่มีพื้นฐานความรู้และศักยภาพด้วย ขณะนี้เราเริ่มเห็นภาวะถดถอยเรื่องของการใช้ยาแล้ว หลังการสั่งจ่ายยาถูกดึงเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งหมด จึงถือเป็นความยากลำบากของโรงเรียนแพทย์ในปัจจุบัน" รองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวและว่า ขณะนี้โรงเรียนแพทย์หลายแห่งเริ่มเปิดช่องทางใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่ม อย่างการเปิดโรงพยาบาลเพื่อจัดเก็บเงินค่ารักษาเพิ่มสำหรับผู้ป่วยที่จ่ายได้ นำมาใช้ดำรงสถานะความเป็นโรงเรียนแพทย์ให้อยู่ต่อไปได้
นพ.สุธรรม บอกอีกว่าแนวทางแก้ไขปัญหานั้น มีข้อเสนอแยกวิธีการคิดงบประมาณรักษาพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ รวมถึงสถาบันทางการแพทย์ออกจากงบรักษาพยาบาลปกติ หรือไม่อย่างนั้นรัฐบาลควรให้งบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ต่างหาก ทั้งการใช้ยาและเทคโนโลยีใหม่เพื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ประเทศคงศักยภาพการแพทย์ที่ก้าวหน้า สามารถสร้างแพทย์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับได้ และแนวทางนี้ทางกองทุนรักษาพยาบาลก็ไม่ต้องกังวล สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมกับงบประมาณ ส่วนข้อเสนอการร่วมจ่ายรักษาพยาบาลนั้น นพ.สุธรรม มองว่าเป็นทางออกหนึ่ง แม้ว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยให้กับโรงเรียนแพทย์แล้วก็ตาม แต่การร่วมจ่ายยังคงต้องเดินหน้า นอกจากช่วยลดภาระค่าค่ารักษาพยาบาลของประเทศลงได้แล้ว ทั้งยังทำให้ระบบการรักษาพยาบาลยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงกันข้ามหากระบบยังขาดความยั่งยืน ไม่สามารถทำให้มีแพทย์ มีพยาบาล มีเตียงเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยได้ และไม่สามารถทำให้ความก้าวหน้าการแพทย์คงอยู่ได้ สุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่กับชาวบ้าน ที่พบว่าการรักษาพยาบาลในระบบไม่ได้คุณภาพ ทำให้ต้องเลือกว่าจะดึงดันรักษาพยาบาลตามสิทธิ์ต่อไป หรือยอมจ่ายเงินเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนที่ดีอาร์จีหรือค่ารักษาพยาบาลต่างจากโรงเรียนแพทย์ 3-5 เท่า และนับวันโรงพยาบาลเอกชนจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและการบริการ
ทั้งนี้ การร่วมจ่ายมีหลายวิธี โดยจัดเก็บจากผู้มีรายได้มากและมีกำลังพร้อมจ่าย อาจกำหนดให้มีเพดานการจ่ายหรือให้ร่วมจ่ายโดยคิดเป็น เปอร์เซ็นต์ของค่ารักษา เช่น 20-30% รวมถึงการร่วมจ่ายเพิ่มกรณีที่เป็นความต้องการพิเศษของผู้ป่วย ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยรักษา อาทิ ค่าห้องพิเศษ ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และการใช้วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกินจากมาตรฐาน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัญหาการร่วมจ่ายนั้น เนื่องจากความรู้ของแพทย์และผู้ป่วยนั้นไม่เท่ากัน เมื่อแพทย์แนะนำการรักษาอย่างไร ผู้ป่วยอาจไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ปัจจุบันการตรวจสอบสามารถทำได้ง่าย ทั้งการหาข้อมูลการรักษาจากอินเทอร์เน็ต หรือการขอความเห็นแพทย์จากโรงพยาบาลอื่นๆ เป็นต้น
"ข้อเสนอร่วมจ่าย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ โรงพยาบาล กองทุนรักษาพยาบาล หรือแม้แต่รัฐบาลเองต่างอยากให้เกิดขึ้น เพราะช่วยให้ระบบการแพทย์ประเทศมีความยั่งยืน ส่วนที่มีการพูดถึงความเท่าเทียมต้องดูว่า เมื่อเกิดปัญหาในระบบบริการรักษาพยาบาลแล้ว อนาคตอีก 5-10 ปีลูกหลานของเราจะเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้หรือไม่ หากเข้าไม่ถึงก็จะกลายเป็นคนด้อยสิทธิ์ทันที คนที่พอมีเงินอาจต้องหันเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนแทน แต่คนที่ไม่มีเงินมากพอจะทำอย่างไร จึงไม่ควรปล่อยระบบการแพทย์ของไทยที่เป็นอยู่ขณะนี้ล่มลง"
รองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) บอกด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทางกลุ่มโรงเรียนแพทย์ได้นำเสนอต่อรัฐบาลแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันก็เข้าใจปัญหาดี เนื่องจากท่านเป็นแพทย์ และเคยเป็นนักเรียนแพทย์มาก่อน เชื่อว่าปัญหาที่ขึ้นจะได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 ธันวาคม 2555
- 2 views