กระทรวงสาธารณสุข ระดมสมองแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล ผู้บริหารโรงพยาบาลทั้งในสังกัดและมหาวิทยาลัย พัฒนาระบบงานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาลทุกระดับเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ไร้พิการซ้ำซ้อนให้ได้มากที่สุด เผยในรอบ 10 ปีมานี้ สถิติผู้ป่วยห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จาก 12 ล้านครั้งในปี 2544 เป็น 24 ล้านครั้งในปี 2555 เฉลี่ยนาทีละ 46 ครั้ง
วันนี้ (21 ธันวาคม 2555) ที่โรงแรมโฆษะ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/รพ.ทั่วไป และผู้รับผิดชอบและปฏิบัติงานด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน ประกอบด้วยแพทย์หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม งานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวช งานออร์โธปิดิกส์ พยาบาลประจำห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินประจำโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ จำนวน 300 คน เพื่อระดมสมองพัฒนาประสิทธิภาพระบบการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน ในโรงพยาบาลทุกระดับในประเทศไทย
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า งานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน จัดเป็นงานด่านหน้าที่มีความสำคัญของโรงพยาบาลทุแห่ง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินและวิกฤติอย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้รอดชีวิต ปลอดภัย ลดความพิการซ้ำซ้อน ให้บริการเป็นทีม เป็นความหวังของผู้ป่วยและญาติขณะประสบกับนาทีชีวิต ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน จากการสำรวจของศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่นพบว่า ในรอบ 10 ปีมานี้ จำนวนผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเข้ารักษาตัวที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จาก 12 ล้านครั้งในปี 2544 เป็น 24 ล้านครั้งในปี 2555 เฉลี่ยนาทีละ 46 ครั้ง ในขณะที่ทรัพยากรด้านต่างๆ ของโรงพยาบาล ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนในการรับมือปัญหาอย่างเป็นระบบและทันท่วงที เพื่อให้มีความเป็นเลิศ มีมาตรฐานระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นของคนไทยทั้งประเทศและต่างชาติ
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ จะศึกษาทบทวนสถานการณ์ สภาพปัญหาที่เกิดในระบบจากการปฏิบัติงานจริง และการพัฒนาความพร้อมอย่างสมบูรณ์แบบใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.บุคลากรมืออาชีพ 2.โครงสร้าง และอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ 3.กระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ 4.เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารรับแจ้งเหตุ การประสานงานของเจ้าหน้าที่ จากนั้นจะจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาและการลงทุนต่างๆให้เกิดความสมบูรณ์แบบได้มาตรฐาน
ด้านนายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุ และวิกฤติบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น และประธานฝ่ายอุบัติเหตุราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด รพ.ขอนแก่น ได้ศึกษาความพร้อมรับผู้ป่วยอุบัติเหตุ และฉุกเฉินทุกระดับของโรงพยาบาล 4 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 2.โรงพยาบาลศูนย์ 3.โรงพยาบาลทั่วไป และ4.โรงพยาบาลชุมชนขนาดเตียง 30 เตียงขึ้นไป ทั่วประเทศรวม 771 แห่ง พบว่ายังมีความแตกต่างกัน โดยจัดแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินตลอดเวลาเฉลี่ยร้อยละ 94 เฉพาะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมการช่วยชีวิตชั้นสูง ศัลยแพทย์รับปรึกษาและมาดูแลผู้บาดเจ็บรุนแรง และมีศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์รับปรึกษาและมาดูแลผู้บาดเจ็บรุนแรง ประจำห้องฉุกเฉินตลอดเวลาทุกแห่ง
ส่วนในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป แพทย์ที่ประจำการส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60-80 ไม่ได้ผ่านการอบรมด้านการช่วยชีวิตชั้นสูง มีศัลยแพทย์ และศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ รับปรึกษาและมาดูแลผู้บาดเจ็บรุนแรงตลอดเวลาเฉลี่ยร้อยละ 93 ในด้านของพยาบาลประจำห้องฉุกเฉิน พบว่าพยาบาลที่ผ่านการอบรมด้านการบาดเจ็บในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปตลอดเวลาเฉลี่ยร้อยละ 73 โดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีร้อยละ 80 โรงพยาบาลศูนย์ร้อยละ 77 และโรงพยาบาลทั่วไปร้อยละ 71 และโรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 40
นายแพทย์วิทยากล่าวต่อว่า โรงพยาบาลชุมชนที่สามารถเอกซเรย์ทรวงอกและขาที่ห้องฉุกเฉินได้ตลอดเวลา คิดเป็นร้อยละ 67 ทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป สามารถหาหมู่เลือด และจัดเตรียมหมู่เลือดที่ห้องฉุกเฉินเฉลี่ยร้อยละ 98 ส่วนโรงพยาบาลชุมชนมีความพร้อมด้านนี้ร้อยละ 25 การปฏิบัติการใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดลม และใสท่อระบายเลือดหรือลมจากทรวงอก โรงพยาบาลทุกระดับสามารถดำเนินการในระดับสูงมากกว่าร้อยละ 93 ขึ้นไป ส่วนการผ่าตัดเจาะคอเพื่อช่วยเปิดท่อลมหายใจ โรงพยาบาลสามารถผ่าตัดได้ตลอดเวลาเฉลี่ยร้อยละ 66 แยกเฉพาะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยร้อยละ 100 โรงพยาบาลศูนย์ร้อยละ 77 โรงพยาบาลทั่วไปร้อยละ 627 และโรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 12
นอกจากนี้ โรงพยาบาลสามารถทำการผ่าตัดด้านจุลยศัลยกรรมตลอดเวลา เช่นต่อเส้นเลือด ต่อนิ้ว เฉลี่ยร้อยละ15 สามารถเปิดทำผ่าตัดทรวงอกได้ตลอดเวลาเฉลี่ยร้อยละ 60 สามารถรักษาผู้ป่วยไฟไหม้ระดับ 3 ที่มีพื้นที่มากกว่าร้อยละ 15 ของร่างกายเฉลี่ยร้อยละ 67 ส่วนด้านการจัดองค์กร พบโรงพยาบาลทั้ง 4 ระดับ มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านอุบัติเหตุอย่างเป็นทางการเฉลี่ยร้อยละ 70 มากที่สุดคือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุดของการส่งต่อผู้ป่วยคือการประสานงานคิดเป็นร้อยละ 70 ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะนำไปพิจารณาจัดทำเป็นแผนแก้ไขจุดที่เป็นอุปสรรคในกาแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลแต่ละระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินได้รับการดูแลดีที่สุด
- 67 views