กรมบัญชีกลางคุมเพดานเบิกจ่ายรักษาของ ขรก.ไว้ 6 หมื่นล้านบาท
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2556 กรมบัญชีกลางและคณะกรรมการด้านยาและเวชภัณฑ์ได้ตั้งวงเงินสำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไว้ในจำนวน 6 หมื่นล้านบาทลดลงจากปีก่อน หน้าที่มีการเบิกค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลคิดเป็นเงินราว 6.15 หมื่นล้านบาทเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ลดลง
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการด้านยาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นเลขานุการ ได้มีการต่อรองราคายาและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ให้ปรับลดลง ทำให้ประหยัดได้ระดับหนึ่ง
ปัจจุบันการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลครอบคลุมข้าราชการร่วม 1.2 ล้านคน และบุคคลในครอบครัวของข้าราชการอีก 3.8 ล้านคน รวมเป็น 5 ล้านคน
ขณะที่ในปีงบประมาณ 2556 เป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกร่วม 4.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 73% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ในจำนวนนี้กว่า 80%เป็นค่ายา ขณะที่มีค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในแค่ 1.65 หมื่นล้านบาท
นายมนัส กล่าวว่า ในเดือนที่ผ่านมาได้ออกหนังสือให้แพทย์ที่รักษาพยาบาลจ่ายยาในบัญชีหลักให้กับผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก และหากแพทย์มีความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีหลัก ก็สามารถสั่งจ่ายได้ แต่ต้องให้เหตุผลประกอบในการสั่งจ่ายด้วย
"เราไม่ได้ห้ามจ่ายยานอกบัญชีหลักทั้งหมด เพียงแต่เห็นว่า ยานอกบัญชีเป็นยาที่แพงกว่ายาในบัญชีหลัก ก็อยากให้แพทย์พิจารณาจ่ายยาในบัญชีหลักก่อน โดยที่ผ่านมามีผลวิจัยระบุว่า ยานอกบัญชีมีคุณภาพดีกว่ายาในบัญชี 5% แต่กลับมีราคาแพงกว่าถึง 3 เท่า" นายมนัส กล่าว
นายมนัส ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต เพื่อใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมกระทรวงการคลังยินยอมให้มีการเบิกจ่ายยาได้ตามปกติตามที่แพทย์เห็นสมควร เพราะไม่ต้องการมีปัญหาถูกฟ้องร้องว่าไปลิดรอนสิทธิ โดยปีที่ผ่านมามีการเบิกจ่าย 900 ล้านบาท
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555
- 1 view