"ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดีและรัฐบาลต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมอย่างฟรี ... เรื่องที่ผมเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่ได้เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ..." ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 10 ต.ค. 2516 40 ปีให้หลัง ความแข็งแกร่งของระบบหลักประกันมากขึ้นตามลำดับ ในเวทีสัมมนา "โครงการ1 ทศวรรษ การมีส่วนร่วมของประชาชน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เมื่อวันที่24 ต.ค.ที่ผ่านมา กว่า 600 ชีวิตจากทั่วทุกสารทิศพร้อมเพรียงกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาและกำหนดทิศทางการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ปี 2556-2559
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิพากษ์ว่า จากผลการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วชัดเจนว่า หากประเทศไทยปรับปรุงระบบให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่านี้ จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ร่วม 30% ปัจจุบันประเทศไทยใช้เงินในระบบประกันสุขภาพประมาณ 2 แสนล้านบาท อาจจะประหยัดเงินได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท
เดือนเด่น บอกว่า สิ่งที่ต้องการคือระบบที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ และทุกคนได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เป็นเช่นนั้นพบปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะค่าหัวที่ไม่เท่าเทียมและความแตกต่างเรื่องการเบิกจ่ายในประเทศที่พัฒนาแล้วจะจ่ายตามจริงทั้งหมด
อีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเช่น กลุ่มหนึ่งไม่ต้องจ่ายค่าบริการ อีกกลุ่มหนึ่งต้องจ่าย ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศใช้ระบบเดียว คือจะจ่ายหรือไม่จ่ายเท่านั้น และการมีหลายกองทุนสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ข้อแตกต่างระหว่างต่างประเทศกับประเทศไทย คือไม่มีปัญหาการทับซ้อนระหว่างกองทุนและการบริการขึ้นตรงกับกระทรวงเดียวกัน
"มันต้องให้ทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงเดียว มีหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพและการทำต้นทุนที่เท่าเทียมกัน" อาจารย์เดือนเด่น ระบุเธอ บอกอีกว่า ระบบการเงินการคลังในต่างประเทศมีเพียง 2 ระบบ 1.ระบบประกันสังคม 2.ระบบหลักประกัน ซึ่งได้งบประมาณจากภาษี โดยประเทศไทยต้องมีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร เพราะทำพร้อมๆ กันไม่ได้ ที่สำคัญประชาชนจะต้องอยู่ในสิทธินั้นสิทธิเดียว
"เราต้องดูว่าจะใช้ระบบใดเป็นแกน ส่วนตัวมองว่าควรใช้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นแกนเพราะเป็นระบบที่ครอบคลุมประชากรมากที่สุดและสิทธิประโยชน์ก็ไม่ได้แตกต่างกับระบบอื่น"อาจารย์เดือนเด่น แสดงความคิดเห็น
นักวิชาการรายนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วภายใต้ระบบจ่ายตามจริง ผู้ป่วยต้องมีส่วนร่วมจ่าย นั่นจะแก้ปัญหาไม่ให้ผู้ป่วยเบิกเกินความจำเป็น นอกจากนี้ต้องมีความชัดเจนว่าในอนาคตจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลระบบหลักประกันทั้งหมด จะเป็น สปสช.สำนักงานประกันสังคม (สปส.) หรือกรมบัญชีกลาง ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือต้องให้เป็นหน่วยงานเดียว"ระบบอาจจะอยู่เหมือนเดิม ไม่ต้องยุบรวมกัน แต่ต้องมีตัวแกนหลัก"นักวิชาการรายนี้เชื่อว่าสปสช.ควรเป็นแกนหลัก และทุกระบบต้องได้รับสิทธิตามบัตรทองเป็นเกณฑ์ ในขณะที่ สปส.หากต้องการเก็บเงินสมทบเพิ่ม จะต้องเก็บเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากกว่าบัตรทองเท่านั้น วิธีการทำคือต้องแยกออกมาว่านอกเหนือจากสิทธิบัตรทองแล้ว สปส.ให้อะไรบ้าง จากนั้นเอาส่วนต่างเหล่านั้นมาคำนวณเป็นอัตราการเก็บเงินซึ่งลักษณะเดียวกันกับสวัสดิการข้าราชการ
จอน อึ๊งภากรณ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในฐานะหนึ่งในผู้วางรากฐานระบบหลักประกัน เสนอว่า อีก 10 ปีข้างหน้าควรดึงประชาชนเข้ามาใช้ระบบหลักประกันให้มากขึ้น
"ประเทศไทยหากต้องการให้คนใช้ระบบมากขึ้น แน่นอนว่าจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกมาก คำถามที่หลอกลวงที่สุดคือการตั้งคำถามว่าเราจะเอางบประมาณมาจากไหน" อาจารย์จอน โยนคำถามให้ฉุกคิด
เขา เสนอว่า สามารถนำรายได้มาจากการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า โดยต้องทำให้คนที่มีรายได้สูงจ่ายมากกว่าคนที่มีรายได้ต่ำต้องเก็บในอัตราที่ไม่เท่ากัน เช่น ผู้ที่เสียภาษีในอัตรา 10% อาจต้องจ่ายสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มอีก 500 บาท หรือผู้ที่เสียภาษีในอัตรา 10% อาจต้องจ่าย1,000 บาท
"เป้าหมายใน 10 ปีข้างหน้าคือ ต้องทำให้ประชาชนอีกประมาณ 33% ซึ่งใช้บริการในระบบเอกชนอยู่ เข้ามาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นสัก25%" นักวิชาการรายนี้ระบุ
อาจารย์จอน ยังได้ให้แนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพโดยเชื่อว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะรวมกองทุน นั่นเพราะปัจจุบันระบบประกันสังคมเทียบเท่าระบบบัตรทองแล้ว แต่ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล และต้องจ่ายภาษีทางอ้อมอีกต่อหนึ่ง ที่สำคัญจำเป็นต้องดึงผู้ใช้สวัสดิการข้าราชการเข้ามาใช้ระบบหลักประกันด้วย
วันเดียวกัน นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการอภิปราย เรื่อง"คุณภาพการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วย" ในงาน"2012 Thailand Healthcare Summit" ว่านโยบายของภาครัฐ ทั้งระบบการรักษาฟรีแบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง และนโยบายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ทำให้ผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้น เกิดความแออัด แพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยนอก 2-3 นาทีต่อราย เตียงไม่พอ
นอกจากนี้ ระบบการประมูลยาของโรงพยาบาลรัฐที่ต้องซื้อยาราคาต่ำลงเรื่อยๆเพื่อให้ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อน ทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพของยาที่ประมูล
"จากปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่าคนไทยจะมีอายุยืนขึ้น แต่อายุเฉลี่ยกลับถูกเพื่อนบ้านแซง ทั้งนโยบายการรักษาฟรี การบังคับการทำงานของแพทย์ ทำให้ประเทศไทยย้อนกลับไปเหมือนอังกฤษเมื่อ 50 ปีก่อน" นพ.สมศักดิ์ ระบุ
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 25 ตุลาคม 2555
- 2 views