ใช่ว่าเร้าให้ตื่นตระหนกแต่ต้องชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจริง ขณะนี้ประเทศไทยดำรงอยู่ในสถานการณ์สุขภาพที่สุ่มเสี่ยง พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 11 จังหวัด ถูกโรคระบาดรุกคืบ "ไข้คอตีบ" เสมือนหนึ่งมัจจุราชซ่อนรูป ปี 2555 มีผู้สังเวยชีวิตแล้ว 3 คน ใช่ว่า 3 คน ไม่ปรากฏนัยสำคัญ หากแต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้น 2 ใน 3 คน คือผู้ใหญ่ สวนทางกับความเชื่อเดิมที่เข้าใจโดยทั่วกันว่าเด็กเท่านั้นคือเหยื่อ
นั่นเท่ากับว่า โอกาสติดเชื้อไข้คอตีบเสมอหน้ากันทุกคนทั่วประเทศ ไม่แบ่งแยกเพศและอายุ ความน่าสะพรึงกลัวของโรคไข้คอตีบไม่ได้อยู่ที่ระดับความรุนแรงของโรค นั่นเพราะน้อยรายของผู้ติดเชื้อที่จะแสดงอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทว่า สิ่งที่ไม่อาจประมาทได้เลยคือการระบาดของโรคที่กระจายตัวอย่างรวดเร็วที่น่าวิตกไปกว่านั้นคือ ผู้ติดเชื้อไม่อาจคัดกรองหรือสอบทานอาการเบื้องต้นของตัวเองได้ว่าเป็นโรคคอตีบหรือไม่ นั่นเพราะสัญญาณของโรคถูกส่งผ่านออกมาไม่ชัดนัก มีเพียงอาการไข้และไอตามปกติทั่วๆ ไป ผู้ป่วยจึงรู้ตัวช้า นั่นหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ทันท่วงทีน้อยลง ความเสี่ยงของการติดเชื้อและแพร่เชื้อมากขึ้น ส่งผลให้ความน่าจะเป็นของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ปี 2551-2553 ประเทศไทยเคยมีการระบาดใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่ง ขณะนั้นเชื้อเข้าโจมตีพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้คอตีบถึง 24 คน ล้วนแล้วแต่เป็นเด็ก นั่นเพราะไม่ได้รับวัคซีน
ปี 2555 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน ในจำนวนนั้นเป็นผู้ใหญ่ถึง 2 คน
เมื่อต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(Public Health Emergency) ด้านการอุบัติหมู่ของโรคไข้คอตีบในพื้นที่ภาคอีสาน
ทว่า เป็นเพียงการประกาศภายใน เพื่อบริหารจัดการควบคุมโรค ประชาชนจึงไม่ได้รับรู้และยังไม่ตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นแล้ว คาดการณ์กันว่าการระบาดของโรคมาจากชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.เลย แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หน่วยงานไทยจึงไม่สามารถโยนบาปให้ประเทศลาวเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อได้
ล่าสุดย่างก้าวเข้าเดือน พ.ย.นี้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง มีการขยายขอบเขตพื้นที่ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทางการไทยมีความพยายามที่จะประกาศตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลกอีกครั้ง
เรียกว่าการประกาศกฎอนามัยระหว่างประเทศ ปี 2548 หรือInternational Health Regulations 2005 (IHR) วัตถุประสงค์หลักคือแสวงหาความร่วมมือในการตรวจจับการระบาดของโรค หรือภัยคุกคามด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพื่อวางมาตรการป้องกันควบคุมโรค และลดผลกระทบต่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศร่วมกัน
กล่าวคือ ศักยภาพในการควบคุมโรคจะมีมากขึ้น แต่ในที่นี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ คือประเทศไทยและประเทศลาว ทว่า อุปสรรคที่เกิดขึ้นคือ ประเทศลาวยังไม่ยอมรับว่าเกิดโรคระบาดร้ายแรง จึงไม่ยินยอมให้ความร่วมมือกับทางการไทย อาการโหยหาลมหนาวของคนไทยมักยกระดับความรุนแรงขึ้นช่วงปลายปี เริ่มก่อร่างสร้างอารมณ์ตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป
จับสัญญาณผ่านยอดจองที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวภาคเหนือ-อีสาน ที่เนืองแน่น ยิ่งงวดเข้าใกล้เดือน ธ.ค.มากขึ้นเท่าใด ถนนทุกสายมุ่งสู่ยอดดอย ยังไม่นับการจัดอีเวนต์ท่องเที่ยวอื่นๆทั้งงานแสดงดอกไม้เมืองหนาว มหกรรมดนตรีกลางหุบเขา งานบุญประเพณี แน่นอนว่า นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศจะไปกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น พื้นที่ที่โรคไข้คอตีบกำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง
โรคไข้คอตีบติดต่อกันได้ง่ายและระบาดได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการคลุกคลีอยู่กับผู้ที่ติดเชื้อและมีสถานะเป็นพาหะของโรค การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจ การไอจาม คือสาเหตุของการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับเชื้อผ่านการปนเปื้อนทางอาหาร แต่ก็ไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี ย่อมไม่อาจเพิกเฉยต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ที่น่ากังวลคือ หากนักท่องเที่ยวเดินทางไปรับเชื้อในแหล่งที่เกิดเชื้อ แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนาไปแพร่เชื้อต่อ ภายใน 1-2 เดือนจากนี้ อาจได้เห็นภาพการระบาดใหญ่ชนิดกระจัดกระจายไร้ทิศทางทั่วทั้งประเทศ
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา ให้ความเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดภาพเช่นนั้นอย่างแน่นอน เนื่องจากการแพร่เชื้อ-ติดเชื้อ พาหะกับผู้รับจะต้องมีความใกล้ชิดกันมากถึงมากที่สุด เพียงแค่ยืนเบียดกันในงานคอนเสิร์ต หรือกางเต็นท์นอนบนดอยใกล้ๆ กัน คงไม่อาจติดเชื้อกันได้
"ในงานคอนเสิร์ตถ้าจะติดเชื้อ นั่นหมายถึงคนที่เป็นพาหะต้องตะโกนใส่หน้าคนที่รับเชื้อ และต้องมีปริมาณน้ำลายที่มากพอสมควร
"หรือการขึ้นดอยเพื่อรับลมหนาวนั้นเพียงแค่กางเต็นท์อยู่ข้างๆ กัน คงไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หากจะมีการแพร่เชื้อจริง นั่นหมายถึงพาหะกับผู้รับเชื้อต้องอยู่ในเต็นท์เดียวกัน นอนด้วยกันรวมไปถึงต้องรับประทานอาหารร่วมกันใช้ช้อน แก้ว หรือภาชนะเดียวกันด้วย" คุณหมอภาสกร ให้ภาพ
"ยืนยันว่ายังท่องเที่ยวได้ รวมตัวกันได้ใช้ชีวิตตามปกติได้ ไม่ต้องกังวล และยังไม่จำเป็นต้องประกาศให้หลีกเลี่ยงพื้นที่เหล่านั้น" นพ.ภาสกร ระบุชัด
คุณหมอรายนี้ อธิบายสถานการณ์ปัจจุบันว่า แม้อัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นแต่ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไปจะแสดงอาการที่ไม่รุนแรงและไม่ถึงขั้นเสียชีวิต อย่างไรก็ตามยอมรับว่ายังมีผู้ที่เป็นพาหะอยู่ในหลายพื้นที่
สำหรับการระบาดในพื้นที่ที่เคยระบาดแล้ว จะมีผู้ป่วยรายใหม่น้อยหรือกระทั่งไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เลย แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงพื้นที่ที่เคยระบาด จะเกิดการระบาดขยายตัวออกเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆไม่สามารถควบคุมได้ มีลักษณะเช่นเดียวกับไฟลามทุ่ง
"ใน จ.เพชรบูรณ์ ยังคงมีพาหะมากและมีแนวโน้มที่ จ.พิษณุโลก จะได้รับผลกระทบ คาดว่าการระบาดยังคงมีต่อไปจนสิ้นสุดฤดูหนาว" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดให้ข้อเท็จจริง
ด้านการตั้งรับ หน่วยงานราชการ โดยสธ.แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งคือพื้นที่ตามแก้ไข ซึ่งต้องเร่งค้นหาตัวพาหะ อีกหนึ่งคือพื้นที่ตามสกัด ได้แก่ จังหวัดและอำเภอที่ประชิดกับพื้นที่ระบาดแล้ว ตรงนี้ต้องจัดเตรียมวัคซีนให้พร้อม เร่งฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กและผู้ใหญ่
"ต้องเข้าใจว่าโรคคอตีบหายไปนานมาก ระดับภูมิคุ้มกันของผู้ใหญ่ที่เคยมีสูงก็ลดลง จึงเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ นั่นจึงต้องให้วัคซีนทั้งเด็กและผู้ใหญ่" นพ.ภาสกร ระบุ
ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยาบอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยและประเทศลาวมีความร่วมมือกันเป็นการภายในอยู่แล้ว แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็จะต้องนำปัญหาเข้าสู่เวทีใหญ่ ส่วนการประกาศกฎอนามัยระหว่างประเทศจะไม่เกิดผลหรือเกิดประโยชน์อะไร เนื่องจากการระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทยเอง ขณะที่บริเวณชายแดนลดลงมากแล้ว
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 28 ตุลาคม 2555
- 2 views