ความล้าหลังของกฎหมาย 37 ฉบับคือ อุปสรรคต่อการพัฒนา คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) เห็นว่า หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกจำเป็นต้องแก้ไข
12 ก.ย.นี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมเพื่อรับฟังข้อเสนอ ข้อเสนอหนึ่งที่ต้องจับตามองเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านบริการสุขภาพ
สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเห็นควรให้ปรับปรุงใน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2.พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 3.พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์
โฟกัสเฉพาะ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติชัดเจนว่าเสริมแรงต่อศักยภาพในการแข่งขันได้จริง ทว่าอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเพิกเฉยคือ ผลกระทบที่ประชาชนผู้ใช้บริการจะต้องแบกรับ
หมวด 5 มาตรา 46-48 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดทำ "ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ" เสมือนหนึ่งกรอบที่ผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพห้ามละเมิด
ข้อที่ 51 ... รัฐไม่พึงให้การสนับสนุนหรือสิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนกับการบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจ
ข้อที่ 106 ... ให้รัฐจัดระบบการเงินการคลังรวมหมู่จากแหล่งเงินซึ่งมีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าที่ทำลายสุขภาพ
ข้อที่ 109 ... ให้รัฐพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเงินการคลัง สำหรับการจัดบริการสาธารณสุขให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ โดยใช้การเงินการคลังแบบปลายปิดที่กำหนดค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า
ทั้ง 3 ข้อนี้ ถูกเสนอให้ยกเลิก เพราะล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน
นอกจากนี้ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอให้รัฐบาลปรับทิศทางเพื่อส่งเสริมการลงทุน
รัฐบาลควรส่งเสริมสถานพยาบาลปรับโครงสร้างที่ขาดประสิทธิภาพ ได้แก่ เครื่องมือแพทย์เก่า เครื่องจักรที่ไม่ประหยัดพลังงาน และให้รัฐบาลใช้นโยบายที่จูงใจในการลงทุนและสร้างเสริมศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับชาติอื่นได้ เช่นเดียวกับการประกาศส่งเสริมในอุตสาหกรรมหมวดอื่น
"คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้เตรียมเรื่องการส่งเสริมภาคเอกชนให้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเครื่องจักรเครื่องมือแพทย์ให้สามารถแข่งขันและทำรายได้ จากโครงการเมดิคัลฮับไว้แล้ว แต่ติดขัดที่อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ลงนามในประกาศ" คือ ความพร้อม หากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ตัดสินใจเดินหน้าต่อ
ขณะเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาสังคม14 องค์กร ได้ทำหนังสือลงวันที่ 10 ก.ย. เสนอต่อ คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เรียกร้องให้ติดตามและพิจารณาการข้อแก้กฎหมายทั้ง 37 ฉบับ ของ กกร.และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
เอกสาร ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยกเลิกธรรมนูญสุขภาพ 3 ข้อ เนื่องจากการทำธุรกิจจะต้องเสียภาษีให้รัฐและตอบแทนแผ่นดิน
นอกจากนี้ ธุรกิจการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์ จึงเป็นธุรกิจที่ควรควบคุม
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาด้านการเข้าถึงทรัพยากรและการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขหากรัฐบาลยิ่งส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นจะยิ่งเพิ่มปัญหา
ที่สำคัญไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะให้การสนับสนุนธุรกิจทางการแพทย์ โดยเฉพาะการให้สิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุน
ข้อเท็จจริงมี 2 ชุด อยู่ที่จะคิดบนพื้นฐานใด
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 ก.ย. 2555
- 1 view