ผู้ป่วยโรคไตกว่า 40,000 รายทั่วประเทศ ขาดแคลนน้ำเกลือฟอกเลือด ผลพวงมหาอุทกภัยปลายปี'54 โรงงานผู้ผลิตหลักอยู่ในนิคมฯนวนครยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ผลกระทบจากมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี2554 ยังกระจายไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักคือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องใช้น้ำเกลือในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำยา หรือน้ำเกลือสำหรับฟอกเลือดล้างไต โดยทั้งประเทศมีผู้ป่วยประมาณ 40,000 ราย เป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องฟอกเลือด 30,000 ราย ล้างช่องท้อง 10,000 ราย ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำยาฟอกเลือดถึงเดือนละ 1 ล้านถุง และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 10,000 ราย ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำเกลือในผู้ป่วยโรคไตนั้น ส่วนใหญ่จะพบในศูนย์ฟอกเลือดมากกว่าโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากโรงพยาบาลจะมีการสำรองไว้ในระดับหนึ่ง และหากขาดแคลนก็จะเป็นในลักษณะขอยืมใช้ระหว่างโรงพยาบาลด้วยกัน
นพ.ประทีปกล่าวว่า วิธีรักษาอาการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือ การล้างช่องท้อง และการฟอกเลือด ซึ่งทั้ง 2 วิธีจำเป็นต้องใช้น้ำเกลือคนละชนิดกัน แต่ขณะนี้พบว่ากลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดคือ กลุ่มที่ต้องใช้น้ำเกลือในการฟอกเลือด ซึ่งการฟอกเลือดให้ผู้ป่วยต้องพิจารณาตามความรุนแรงของอาการแต่ในรายที่อาการหนักแพทย์จะต้องฟอกเลือดให้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ดังนั้น ในขณะนี้สถานพยาบาลหลายแห่งจึงอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำเกลือ หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐยังสามารถขอยืมไปใช้กันได้
นพ.ประทีปกล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตป้อนน้ำเกลือรายหลักๆ คือ บริษัท จีเอชพี(GHP) แต่ประสบภาวะน้ำท่วม เนื่องจากโรงงานผลิตอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี จนถึงขณะนี้ยังฟื้นตัวไม่เต็ม100% ขณะที่โรงงานที่เหลืออีก 3 แห่ง คือบริษัท A.N.B. Laboratories หรือบริษัท อำนวยเภสัชฯ บริษัท ไทย โอซูกะ (Thai Otsuka) และบริษัท ไทยนครพัฒนา (Thai Nakorn Patana) ก็ประสบปัญหากำลังผลิตไม่เพียงพอ และอยู่ระหว่างขยายกำลังผลิต โดยมีการปรับปรุงเครื่องจักร ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำเกลือมากขึ้น
นพ.ประทีปกล่าวอีกว่า ปัจจุบันศูนย์ฟอกเลือดทั้งของรัฐและเอกชนมีประมาณ 350 แห่งทั่วประเทศ เป็นของเอกชนมากที่สุดประมาณ 200 กว่าแห่ง ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะได้รับผลกระทบทันที ดังนั้น แม้ระยะสั้นจะมีการแก้ปัญหาเหล่านี้แล้ว แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องมีแผนรองรับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย โดยเรื่องนี้มีการหารือกันระหว่างคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายในภาวะอุทกภัย ซึ่งมี ศ.คลินิก นพ.สุพัฒน์ วานิชย์การเลขาธิการมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งขึ้นเมื่อครั้งประสบอุทกภัยจนน้ำเกลือฟอกเลือดขาดแคลน โดยจะมีการประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขระยะยาวต่อไป
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่าเฉพาะที่โรงงานจีเอชพี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำเกลือรายใหญ่ที่สุด สามารถผลิตน้ำเกลือถุงป้อนตลาดได้มากถึงร้อยละ 25-30 แม้ขณะนี้สามารถผลิตน้ำเกลือได้บางส่วน แต่เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับปรุงโรงงานหลังจากประสบอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ทำให้กำลังการผลิตลดลง ดังนั้น น้ำเกลือที่ผลิตได้จึงสามารถส่งจำหน่ายได้เฉพาะกลุ่มศูนย์ล้างไต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าโรงงานผลิตน้ำเกลือแห่งนี้จะสามารถกลับมาผลิตน้ำเกลือได้เต็มศักยภาพภายในสิ้นปีนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาน้ำเกลือขาดตลาดเกิดจากผู้ผลิตรวมตัวกันขอขึ้นราคาใช่หรือไม่นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า ยืนยันว่ากรณีนี้ไม่ได้เกิดจากการขอขึ้นราคาน้ำเกลือแต่อย่างใด สำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในขณะนี้ อย.และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตน้ำเกลือ ได้แก่ บริษัท อำนวยเภสัชฯบริษัทไทย โอซูกะ และ บริษัท ไทยนครพัฒนาส่งมอบน้ำเกลือ 5-6 หมื่นถุง ให้แก่ อภ.เป็นตัวแทนจำหน่ายภายในช่วงสัปดาห์นี้ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายถุงน้ำเกลือให้แก่ศูนย์ล้างไตและโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศได้ทั่วถึงภายในวันที่ 10 กันยายน และคาดว่าสถานการณ์ขาดแคลนถุงน้ำเกลือจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการอภ. กล่าวว่า เบื้องต้น อภ.ได้สั่งนำเข้าน้ำเกลือจาก 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินเดียสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามรวมกว่า 1 ล้านถุง โดยขนส่งทางเรือใช้เวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ ขณะนี้เรือกำลังทยอยเข้ามาและจะเข้ามาเรื่อยๆ เช่น วันที่ 13 กันยายน 22,800 ถุง วันที่ 17-18 กันยายน600,000 ถุง เป็นต้น หลังจากน้ำเกลือมาถึงจะเร่งกระจายให้หน่วยฟอกไตเทียมที่ขาดแคลนให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน
--มติชน ฉบับวันที่ 9 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 745 views