คณะทำงานการสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพชีวิต และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่อง"การรักษามะเร็งมาตรฐานเดียว"เพื่อจัดทำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ตอนหนึ่งของการเปิดสัมมนา สุปรีดิ์วงศ์ดีพร้อมประธานคณะทำงานฯ แสดงจุดยืนว่า คณะทำงานฯ เกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการตั้งใจจะผลักดันให้การรักษามะเร็งเป็นมาตรฐานเดียวทุกสวัสดิการ
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สรุปประเด็นความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ พร้อมทั้งฉายภาพการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของกองทุนสุขภาพตามลำดับ
"คุณเป็นมะเร็งแล้วจะได้รับการรักษาดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับคนใช้สิทธิประกันสุขภาพระบบใด"
นักวิชาการรายนี้ อธิบายอีกว่า สาเหตุที่ต้องผลักดันให้การรักษามะเร็งเป็นมาตรฐานเดียวมี 3 ประการ 1.โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของชาวไทย ซึ่งมากกว่าอุบัติเหตุ 2.การเข้าถึงยารักษาของแต่ละสิทธิแตกต่างกัน และหากต้องการซื้อเองต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านบาท 3.วิธีการเบิกจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการแตกต่างกัน
"โจทย์ที่สำคัญคือ ขณะนี้คนยังเห็นคนไม่เท่ากัน" คุณหมอพงศธร ย้ำ
ด้าน นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวอย่างมั่นใจว่ารัฐบาลไม่มีทางล้มละลายจากการใช้งบประมาณซื้อยามะเร็งมาให้บริการประชาชน เพราะแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งเพียง 1 หมื่นรายหากเสียค่าใช้จ่ายก็เพียง7,000-8,000 ล้านบาทเท่านั้น
"ถ้าจะล้มละลายก็เพราะการคอร์รัปชัน มันไม่ใช่เพราะซื้อยามะเร็ง"รองเลขาธิการ สปสช.สำทับ
ก่อนจะให้ความเชื่อมั่นต่อที่ประชุมว่าเมื่อพิจารณากลไกต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งด้านข้อมูล สังคม การรับรู้ของผู้มีอำนาจ อีกไม่นานการผลักดันเรื่องมะเร็งมาตรฐานเดียวคงจะสำเร็จ
นพ.วีระวัฒน์ ระบุอีกว่า แต่ละปีประเทศไทยสูญเสียงบประมาณค่ายาไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เฉพาะผู้ใช้สิทธิข้าราชการเบิกค่ายา 5 หมื่นล้านบาทในจำนวนนี้เป็นยามะเร็งหลายพันล้านบาทอย่างไรก็ดีปัญหาเรื่องยามะเร็งไม่ได้ขึ้นอยู่กับแพทย์หรือโรงพยาบาล แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจว่าจะดูแลประชาชนอย่างไร
"เมื่อเร็วๆนี้ผมมีโอกาสได้ขึ้นรถไฟครั้งหนึ่ง รถไฟฟรีของรัฐบาลมันแย่ขนาดไหนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคงไม่ทราบเพราะไม่เคยขึ้น"
ด้านตัวแทนแพทย์ในฐานะผู้ให้บริการนพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สะท้อนว่า จิตวิญญาณของแพทย์ต้องการให้ผู้ป่วยหายจากโรคและแน่นอนว่าแพทย์คงอยากให้ทุกอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทว่าปัญหาอยู่ที่งบประมาณ ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องใช้งบประมาณมหาศาล คำถามคือ หากเงินที่ได้รับยังเท่าเดิม งบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช.ยังคงเท่าเดิม แต่ต้องแบ่งเงินไปใช้รักษาโรคร้ายแรงที่ราคาแพง ก็จะกระทบเงินที่ต้องนำไปรักษาโรคอื่นๆท้ายที่สุดหน่วยบริการก็ได้รับผลกระทบ
"ตรงนี้ต้องย้อนกลับไปยังแต่ละกองทุนว่าจะปรับแชร์กันอย่างไร กำลังเงินในการเบิกจ่ายไหวหรือไม่ สำหรับผู้ให้บริการแน่นอนว่าต้องการให้เหมือนกันอยู่แล้ว" รองปลัด สธ. ระบุ
ภคมน ศิลานุภาพ รักษาการนักวิชาการแรงงานเชี่ยวชาญ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สนับสนุนการรักษามะเร็งมาตรฐานเดียว และขณะนี้ สปส.ได้ซื้อยารักษามะเร็งที่มีราคาแพงผ่านองค์การเภสัชกรรมเพื่อจ่ายให้กับผู้ประกันตนแล้วโดยผู้ป่วย 1 ราย สปส.ต้องใช้งบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สภาที่ปรึกษาฯ ได้ข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา 3 ประเด็น 1.ปรับสิทธิประโยชน์และวิธีการรักษามะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพงที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งสามระบบ
2.ปรับวิธีการจ่ายเงินให้หน่วยบริการเป็นอัตราเดียวกันทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยเฉพาะผู้ป่วยในขอให้จ่ายอัตราต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ (RW) ที่เท่ากัน 3.ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง
"ชัดเจนถึงความจำเป็นที่ต้องผลักดันการรักษามะเร็งให้เป็นมาตรฐานเดียว เหลือเพียงการตัดสินใจของผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น"จิราพร ลิ้มปานนท์ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ สภาที่ปรึกษาฯ ระบุ
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่10 ก.ค.ได้เห็นชอบให้ผู้รับบริการร่วมจ่าย 30 บาทในโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นทุกแห่งพร้อมกันทั่วประเทศ 1 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ จะเก็บจากผู้ที่ได้รับบริการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดและได้รับยายกเว้นกลุ่มผู้ยากไร้ ตามเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย และกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายกำหนด 23 กลุ่ม แต่จะไม่บังคับจ่ายให้ขึ้นอยู่การสมัครใจผู้รับบริการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 11 ก.ค. 2555
- 2 views