สธ.เผยคนไทยเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียกว่า 24 ล้านคน ส่วนเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียปีละกว่า 12,000 คน ทำเสียเงินค่าใช้จ่ายการรักษา 5-6 พันล้านบาท เตรียมดึงมูลนิธิโรคโลหิตฯ จัดประชุมวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการควบคุมและป้องกันโรคอย่างรวดเร็วและครบวงจร
นายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับสื่อมวลชน ว่า ธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดจางทางพันธุกรรมที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียมีทั้งผู้ที่เป็นโรค และไม่เป็นโรค หรือที่เรียกว่าเป็นพาหะ โดยผู้ที่เป็นโรคจะมีอาการแตกต่างกัน ส่วนผู้ที่เป็นพาหะจะมีสุขภาพปกติเหมือนคนทั่วไป ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียทั่วประเทศประมาณ 6 แสนคน และมีผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 18-24 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30-40 และในแต่ละปีมีมารดาที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 5 หมื่นครรภ์ และมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้นประมาณ 12,125 คน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณ 5-6 พันล้านบาท สำหรับการรักษาสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่สามารถทำได้ทุกคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมาก และต้องมีผู้บริจาคไขกระดูกที่เข้ากันได้กับผู้ป่วยการรักษาโดยทั่วไป จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ตามอาการ ทำให้ผู้ป่วยได้รับทุกขเวทนาทั้งร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก
นายแพทย์ สมชัย กล่าวต่อว่า การควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียสามารถทำได้ โดยการให้ความรู้ประชาชนและบุคลากรทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์และสามี ในการมีบุตรที่เป็นโรค การตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ และการให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุกรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินงานป้องกันและควบคุม ที่ผ่านมานั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันหาแนวทางป้องกัน และมีความก้าวหน้าในการดำเนินการดังกล่าวมาก อย่างไรก็ตาม การป้องกันควบคุมวิธีที่ดีที่สุดนั้น จะต้องให้มีการกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมีย ไปสู่บุคลากรในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามสถานีอนามัยทุกตำบล และเจ้าหน้าที่อนามัยเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้สู่ อสม.ที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน รวมไปถึงการตรวจหาพาหะของโรคทั้งพ่อและแม่
นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่พบบ่อยในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ โรคฮีโมโกลบิน บาร์ทไฮดรอพส์ฟิทัลลิส โรคโฮโมซัยกัสเบต้าธาลัสซีเมีย และโรคเบต้าธาลัสซีเมีย ฮีโมโกลบินอี ซึ่งโรคธาลัสซีเมียทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมีอาการรุนแรงแตกต่างกัน บางรายมีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ดังนั้น การดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียอาศัยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ 3 ระดับ คือ การตรวจคัดกรองการตรวจยืนยันและการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอด โดยการดำเนินงานทั้งหมดจะต้องมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือและการายงานผลที่รวดเร็ว
“กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย จัดประชุมสัมมนาวิชาการเป็นประจำทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการดูแลรักษาโรคธาลัสซีเมีย และเป็นการสร้างเครือข่ายการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียที่รวดเร็ว ครบวงจร สำหรับปีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี จะมีการบรรยายพิเศษและการแสดงผลงานวิชาการมากมาย เช่น การปาฐกถาเกียรติยศสุดสาคร ตู้จินดา เรื่อง “คุณภาพของการวินิจฉัย คุณธรรมของการรักษา สู่คุณค่าของการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมีย” โดย ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ การบรรยายพิเศษเรื่อง “New approaches in DNA diagnostics for haemoglobin disorders โดย Dr.Cornellis L Harteveld จาก Leiden University Medical Center เนเธอร์แลนด์ และการบรรยายเรื่อง “การเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) โดย รศ.นพ.วีระพล จันทร์ดียิ่ง และ รศ.ดร.รัชนา ศานติยานนท์ รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิชาการที่ได้พัฒนาแนวทางป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียที่ครบวงจร เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยและพี่น้องชาวไทยทุกคน” รองปลัด สธ.กล่าว
ที่มา : www.manager.co.th
- 26 views