พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา กล่าวว่า จากการติดตามของแพทยสภาพบว่า ในช่วง 2-3 ปี มีนักเรียนไทยเรียนต่อหลักสูตรแพทย์ที่ประเทศจีนจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แม้มหาวิทยาลัยที่เลือกเข้าเรียนจะมีคุณภาพ ได้รับการรับรองจากแพทยสภาไทย แต่หลังเรียนจบกลับสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ประเทศไทยไม่ผ่าน เพราะการเรียนการสอนมีความแตกต่างทางภาษาอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการเรียน 3 ปีหลังที่เป็นการเรียนทางด้านคลินิก ตรวจคนไข้ เพราะไม่สามารถสื่อสารติดต่อกับผู้ป่วยได้ เนื่องจากการเรียนใน 3 ปีแรกจะมีล่ามคอยสื่อสารให้ในชั้นเรียนนอกจากนี้ยังพบว่าภาษาอังกฤษที่สอนเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลักสูตรแพทย์สากลก็ยังไม่ตรงกัน

พญ.ประสบศรีกล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักศึกษาแพทย์ระดับชั้นปีที่ 5 และ 6 จำนวน 2 คน ที่กลับมาสอบระดับขั้นที่ 1 และ 2 ที่เป็นการสอบในด้านวิชาการแพทย์ แต่ยังไม่มีใครสอบผ่าน ไม่รวมถึงการสอบขั้นที่ 3 ที่เป็นระดับคลินิก นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาแพทย์ในระดับชั้นปีที่ 4 จำนวน 3 คน ได้เข้าร้องเรียนต่อทางแพทยสภา กรณีมหาวิทยาลัยแพทย์ในจีนไม่จัดการเรียนการสอนตามที่ได้โฆษณาไว้ คือไม่มีล่าม ขาดสื่อสารในการเรียนที่ชัดเจนแต่ทางแพทยสภาคงเข้าไปดำเนินการอะไรไม่ได้ ทั้งไม่สามารถยกเลิกการรับรองมาตรฐานหลักสูตร เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานการเรียนการสอน อีกทั้งหากยกเลิกการรับรองมาตรฐานจะเป็นการปิดโอกาสนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางภาษาในการเข้าเรียน

"ทราบมาว่ามีนักเรียนไทยแห่เข้าเรียนหลักสูตรแพทย์ในประเทศจีนประมาณ 349 ราย โดยปี 2554 มีผู้สมัครถึง 244 คน จึงรู้สึกเป็นห่วงและออกมาเตือน คาดว่าปีนี้จะมีนักเรียนไทยสมัครเข้าเรียนมากขึ้น เพราะประเทศจีนกำลังได้รับความนิยม ค่าเล่าเรียนไม่สูงมาก อยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนบาทต่อเทอม จึงมีผู้ปกครองต่างให้การสนับสนุนและผลักดันให้ลูกหลานเข้าเรียน แต่อยากให้มองปัจจัยในเรื่องภาษาด้วยไม่เช่นนั้นเด็กที่จบถึงเรียนแพทย์มา แต่ก็รักษาผู้ป่วยไม่ได้ เหมือนกับตายทั้งเป็น"

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ 15 มิ.ย. 55

,