อย. เผยมาตรการเฉียบ หลังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตภาคใต้มีการตรวจจับยาแก้ไอได้เป็นจำนวนมาก และพบเป็นยาที่ส่งตรงมาจากผู้ผลิตยาในส่วนกลาง จำหน่ายไปยังร้านค้าย่อยต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหามีการนำยาแก้ไอ ไปใช้ในทางที่ผิด โดยเป็นส่วนประกอบในการผลิตยาเสพติด 4x100 อย. จึงส่งเจ้าหน้าที่ลุยตรวจสอบบริษัทยาที่คาดว่าจะกระทำผิดกฎหมายทันที เพื่อมิให้เกิดภัยต่อสังคม โดยเฉพาะปัญหาเยาวชนติดยาเสพติด พร้อมปรามร้านขายยา ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่าขายยาแก้ไอ ให้กลุ่มวัยรุ่นหรือบุคคลใดที่คาดว่าจะนำไปใช้ในทางที่ผิด ตรวจพบมีความผิด ถึงขั้นเข้าคณะกรรมการยาพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตและลงโทษทางจรรยาบรรณกับเภสัชกรประจำร้านยาด้วย 

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายวิทยา บุรณศิริ) ได้กำชับนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะปัญหา การนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สนองนโยบายนี้อย่างเต็มที่ โดยล่าสุดได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตภาคใต้หลายจังหวัดว่า ที่ผ่านมามีการตรวจจับยาแก้ไอในแต่ละครั้งได้ของกลางเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 1,000 – 10,000 ขวด ทั้งนี้จากรายงานการตรวจจับยาแก้ไอที่นำมาขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ในช่วงปี 2553 – 2555 สามารถจับยาน้ำแก้ไอจำนวนมากกว่า 30,000 ขวด ทั้งนี้ อย. ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ายาแก้ไอที่จับได้มีการขนส่งมาจากผู้ผลิตยาในส่วนกลาง ซึ่งทำการส่งตรงไปยังร้านค้าย่อย ต่าง ๆ ในเขตชุมชนภาคใต้ โดยพบผู้ซื้อยาแก้ไอ ได้นำไปใช้เป็นส่วนประกอบ ในการผลิตยาเสพติด 4x100นั้น อย. มีความห่วงใยและมิได้นิ่งนอนใจเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาได้มีมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาแก้ไออย่างเข้มงวด โดยออกประกาศฯ เรื่อง การควบคุมการจำหน่ายยาน้ำที่มีไดเฟนไฮดรามีน หรือโปรเมทาซีน หรือเดกซ์โตรเมธอร์แฟน เป็นส่วนประกอบ โดยให้ผู้รับอนุญาตผลิตยา และผู้รับอนุญาตนำเข้ายา จำกัดปริมาณการจำหน่ายไปยังร้านขายยาได้จำนวนไม่เกิน 300 ขวด/แห่ง/เดือน รวมทั้งให้ผู้รับอนุญาตขายยาและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยา ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายยาอย่างเคร่งครัด 

สำหรับเหตุการณ์ที่พบการจับยาแก้ไอจำนวนมากในภาคใต้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เป็นยาแก้ไอยี่ห้อเดียวกับยาที่ผลิตจากผู้ผลิตยาแห่งหนึ่ง ดังนั้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 อย. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ จากสำนักยา เข้าไปตรวจสอบแล้ว ซึ่งในเบื้องต้น อย. จะได้สั่งให้บริษัทดังกล่าวหยุดการผลิตยาน้ำแก้ไอดังกล่าว และอายัดผลิตภัณฑ์ยาไว้ทั้งหมด เพื่อรอการตรวจสอบ พร้อมทั้งจะประสานกับหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป เนื่องจากถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางภาคใต้ด้วย 

นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า กรณีของยาเสพติด 4x100 ซึ่งที่จริง มีส่วนผสมหลัก คือ ใบกระท่อม อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสพติด ส่วนยาน้ำแก้ไอไม่ได้ทำให้เกิด การเสพติด แต่นำมาใช้เพื่อปรุงแต่งรส และช่วยทำให้ง่วงซึมเท่านั้น แต่เมื่อเกิดปัญหามีการจำหน่ายยาแก้ไอไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อย. จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการควบคุมการจำหน่ายยาแก้ไออย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ตรงจุด ต้องปราบปรามที่พืชกระท่อม เนื่องจากจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันปราบปรามอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม อย. จะเร่งตรวจสอบผู้ผลิตยา และร้านขายยาทั่วประเทศ โดยจะเน้นไปยังเขตพื้นที่ภาคใต้เป็นพิเศษ และรณรงค์ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มิให้ลักลอบขายยาแก้ไอเกินปริมาณตามกฎหมายกำหนด และนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม หากผู้ใดต้องการแจ้งเบาะแสร้านขายยาที่มีพฤติกรรมขายยาแก้ไอในทางที่ผิด สามารถแจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด