กรมควบคุมโรค แนะ นายจ้างบริการวัคซีนหัด ป้องกันโรคแก่แรงงานต่างชาติ หลังพบผู้ป่วยทั่วประเทศ 2,300 ราย เป็นแรงงานต่างชาติ 17 %
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีการรับแรงงานต่างชาติ เพื่อเข้ามาทำงารับจ้างในประเทศไทยจำนวนมากนั้น ทางกรมฯ มีความเป็นห่วงในเรื่องของการเกิดโรคระบาดที่สำคัญ ได้แก่ มาลาเรีย และหัดซึ่งขณะนี้มีรายงานเบื้องต้นทราบว่า พื้นที่จ.สมุทรสงครามและสมุทรสาคร มีการระบาดของโรคหัดในแรงงานนับร้อยรายแล้ว จึงอยากสนับสนุนให้นายจ้างมีการบริการฉีดวัคซีนป้องกันหัด แก่แรงงานดังกล่าวด้วย เพื่อป้องกันสุขภาพ เนื่องจากการป่วยหัดครั้งหนึ่งก็ต้องหยุดพักงานนานประมาณ 7 วัน
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า กรณีไข้มาลาเรียนั้น ปัจจุบันก็น่าห่วง เพราะ สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทย ปี 2554 พบผู้ป่วยทั้งหมด 33,408 ราย โดยแยกเป็นผู้ป่วยคนไทย จำนวน 15,396 ราย ผู้ป่วยชาวต่างชาติ จำนวน 18,012 ราย แยกเป็นรายจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับ จังหวัดตาก ผู้ป่วยไทย 2,676 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 9,484 ราย ซึ่งหากปล่อยให้ลามถึงสมอง ก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรมีการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายจ้างควรให้ความสำคัญกับบริการพื้นฐานด้านสาธารณสุข แก่ลูกจ้างต่างชาติอย่างเป็นธรรม
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคหัดในไทยนั้น พบว่ารายงานตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 8 มิ.ย. พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 2,300 ราย เป็นหญิง 1,156 ราย ชาย 1,144 ราย แบ่งเป็นช่วงอายุระหว่าง 0-4 ปี จำนวน 840 ราย อายุ 5-9 ปี 416 ราย อายุ 10-14 ปี 195 ราย อายุ 15-24 ปี 456 ราย อายุ 25-34 ปี 281 ราย และมากกว่า 35 ปี 99 ราย และไม่ทราบอายุ 13 ราย โดยในจำนวนดังกล่าว 15-17 % เป็นชาวต่างประเทศที่ไม่มีเอกสารหลักฐานชัดเจน สำหรับการเกิดโรคแทรกซ้อนนั้น พบว่ามีอัตราไม่เกิน 3 % เช่น เกิดอาการปอดบวม ร่วมด้วย แต่ในคนไทยนั้นไม่น่าเป็นห่วงมากนักเพราะมีการเข้ารับวัคซีนมากกว่า 90 % แต่ในชาวต่างชาติไม่มีรายงานตัวเลขรับบริการวัคซีน
สำหรับโรคหัดนั้น ไม่อันตรายมากนัก แต่ก็ต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เท่านั้น ยกเว้นผู้ที่ขาดสารอาหารและป่วยโรคเลือด อาการของโรคจะรุนแรง กว่าคนทั่วไป ดังนั้นไทยจึงเน้นที่การบริการวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งบางประเทศไม่มีบริการดังกล่าว ทางนายจ้างจึงควรจัดบริการให้แก่แรงงานเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว
- 11 views