ครั้งหนึ่ง มะเร็งปากมดลูก เคยครองแชมป์มะเร็งที่คร่าชีวิตหญิงไทยต่อเนื่องมาหลายปี เฉลี่ยวันละ 15 คน ทั้งที่ มะเร็งปากมดลูก สามารถรักษาจนหายขาดได้ หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก
จึงเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นการรณรงค์ให้หญิงไทยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังสนับสนุนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีให้กับหญิงไทยทุกคน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้
แต่ปรากฏว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนหญิงไทยที่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกลับมีจำนวนไม่มาก รวมไปถึงกลุ่มสาวโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด
จากการเปิดเผยข้อมูลของ ภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย พบข้อมูลที่น่าตกใจ เนื่องจากมีหญิงไทยที่เป็นผู้ประกันตนถึง 96% หรือเกือบจะทั้งหมด ไม่เคยใช้สิทธิคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย มีเพียงแค่ 4% เท่านั้นที่เคยผ่านการตรวจ
นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย อธิบายถึงสาเหตุว่า เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเวลา ไม่อยากหยุดหรือลางาน บางคนกลัวการตรวจ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เกี่ยวกับสิทธิการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีนี้ด้วย เหตุนี้ในปี 2555 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มผู้ประกันตนหญิง 1 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกันตนหญิงทั้งหมด 250,000 ราย โดยรุกเข้าไปยังโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อทำการคัดกรองให้กับผู้ประกันตนหญิง
ทั้งนี้ตัวอย่างการเข้าคัดกรองในโรงงานแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือน ก.ค. 2554 จากการสอบถามประวัติการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ร่วมคัดกรอง โดยกลุ่มที่อายุ 30 ปีขึ้นไป พบว่า 3 ใน 10 คน มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 19 ปี และ 4 ใน 10 คน มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 24 ปี แต่หากเป็นกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เกือบทั้งหมดมีแฟนไม่ต่ำกว่า 3 คน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลบ่งชี้ปัจจัยเสี่ยง เพราะการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีตั้งแต่อายุยังน้อยและรับเชื้อจากหลายคน โอกาสเกิดเซลล์มะเร็งปากมดลูกจะยิ่งสูงมากขึ้น
ขณะที่ผลการตรวจพบว่า จำนวนผู้มีสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 11,100 ราย มีผู้ขอรับการตรวจคัดกรอง 4,218 ราย จำนวนนี้ 2,163 ราย ไม่พบเซลล์ผิดปกติ ส่วนที่เหลือมีปัญหาการตกขาว นอกจากนี้ยังพบ 44 รายที่อยู่ในกลุ่มระยะที่จะเป็นมะเร็ง และอีก 3 ราย ยังตรวจพบมะเร็งปากมดลูกแล้ว ถือเป็นการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกกลุ่มใหญ่ที่สุด เพราะพบทีเดียวถึง 47 ราย หรือ 1.1% ของผู้เข้ารับการตรวจ ขณะที่อัตราทั่วไปจะตรวจพบที่ 0.3% โดยได้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเอกชน 6 แห่งตามสิทธิในระบบประกันสังคมเพื่อรับการรักษา แต่กลับพบปัญหามาตรฐานบริการที่น่าวิตกอย่างยิ่ง
นพ.พูลชัย บอกว่า เมื่อส่งตัวผู้ป่วยที่พบความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ปกติโรงพยาบาลจะต้องตรวจเพิ่มเติม โดยใช้กล้องชนิดพิเศษส่องเข้าไปยังบริเวณปากมดลูกเพื่อตรวจดูเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ และใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นขดลวดที่มีความร้อนปาดเนื้อเยื่อที่เป็นเซลล์มะเร็งออกแต่ปรากฏว่าโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 6 แห่ง กลับไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ ทั้งที่เป็นเครื่องมือมาตรฐานและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับมีใช้รักษา ซึ่งไม่เข้าใจว่ามาตรฐานการรักษาแบบนี้หลุดรอดได้อย่างไร นอกจากนี้ผู้ป่วยเสี่ยงที่ส่งไปยังถูกปฏิเสธการรักษา โดยให้เหตุผลว่า ผลตรวจที่เราส่งไปนั้นใช้ไม่ได้ ถ้าจะให้ทำการรักษาโรงพยาบาลต้องส่งตรวจเอง
การตรวจใหม่ของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก กลับใช้เครื่องมือเก็บเซลล์ที่มีลักษณะเป็นแท่งไอติม เป็นเครื่องมือตรวจรุ่นเก่าที่มาตรฐานต่ำกว่าการตรวจที่เราใช้ ดังนั้นผลที่ตรวจของโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่พบอาการที่ผิดปกติ จึงไม่ต้องส่งตัวผู้ป่วยเข้ารักษา ที่ปรึกษาภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย กล่าวและว่า แต่ด้วยความที่ผู้ป่วยพยายามของตรวจซ้ำ และก็พบเซลล์มะเร็งในอีก 2 เดือนถัดมา
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการรักษามะเร็งปากมดลูกของผู้ป่วยไม่ได้มีเท่านี้ นพ.พูลชัย กล่าวอีกว่า การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นในโรงพยาบาลเอกชน ผู้ประกันตนยังถูกปฏิเสธการรักษา เพราะเคยมีผู้ประกันตนหญิงที่ตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง โดย 2 ปีก่อนหน้านี้เคยเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกในโรงพยาบาลเอกชนเช่นกัน แต่เนื่องจากพบเพียงอาการในระยะเริ่มต้น ไม่รุนแรง โรงพยาบาลจึงให้ผู้ป่วยรอดูอาการไปก่อน แทนที่จะรีบรักษา
ปัญหานี้คาดว่าเกิดจากระบบเบิกจ่ายของสำนักงานประกันสังคม เพราะกรณีรักษาโรคเบื้องต้นอย่างการส่องกล้องและปาดผิว โรงพยาบาลต้องเป็นผู้จ่าย เนื่องจากได้รับโอนงบเหมาจ่ายรายหัวไปแล้ว แต่หากมะเร็งปากมดลูกลุกลามเข้าสู่ระยะที่ 2 ต้องตัดมดลูก จึงให้เบิกจ่ายงบกลางที่กันไว้สำหรับการรักษาโรคที่รุนแรงได้ โดยเบิกตามดีอาร์จีของโรค ทำให้เกิดการชะลอรักษา อีกทั้งเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2555 สำนักงานประกันสังคมได้ขยายการจ่ายค่าดีอาร์จีโรคมะเร็งจาก 50,000 บาท เป็น 270,000 บาท
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยากให้มีการแก้ไข ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชี้เฉพาะโรงพยาบาลเอกชน 6 แห่งที่บังเอิญมีปัญหามาตรฐานเหมือนกันหมด ที่ผ่านมาจึงต้องประสานไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ทำการรักษาแทน แต่ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ไม่อยากเดินหน้าโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้ประกันตนต่อ เพราะเมื่อพบผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้นแล้ว แต่กลับไม่สามารถช่วยเขาในเรื่องการรักษาได้ จึงได้หยุดโครงการนี้มา 7-8 เดือนแล้ว นพ.พูลชัย กล่าวและว่า อยากฝากบอกรัฐบาลว่าส่วนตัวไม่มีความเห็นเรื่องอื่นว่าควรรวมระบบการรักษา 3 กองทุนสุขภาพหรือไม่ แต่ในส่วนปัญหามะเร็งปากมดลูกนี้ ควรดึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสวัสดิการข้าราชการเข้ามาร่วมดูแล
ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน 6 แห่งเท่านั้น เนื่องจากตนมีเพื่อนที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนใน กทม. แม้ว่าจะมีปัญหาตกขาว มีเลือดออกหลายครั้ง และแต่ละครั้งที่เข้ารักษาจะขอให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ โดยระบุว่าอาการต่างๆ ที่ปรากฏอยู่นี้ยังไม่เข้าข่ายเป็นข้อบ่งชี้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกได้
จนในที่สุดต้องยอมจ่ายเงินไปตรวจเองที่โรงพยาบาลรัฐ และนำผลการตรวจกลับมายืนยันกับทางโรงพยาบาลประกันสังคมเพื่อขอใช้สิทธิการรักษา ส่วนจะมาจากระบบการจ่ายค่ารักษาของประกันสังคมหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะการชักช้า รีรอที่จะรักษา เป็นเพราะโรงพยาบาลเอกชนเกรงว่า กำไรที่ควรได้รับจะหดหายหรือลดน้อยลงไปหรือไม่ และกรณีนี้คงไม่ได้เกิดแต่เฉพาะโรคมะเร็งเท่านั้น
รัฐบาลมีนโยบายที่ดีในการเริ่มต้นสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพียงแต่ในรายละเอียดการบริหารจัดการยังทำให้นโยบายไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ากำกับอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญ นายกรัฐมนตรีควรลงมากำกับดำเนินการให้มากขึ้น เพราะการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน มีขอบเขตของภารกิจมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพ สร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว จึงขอเสนอรัฐบาลเดินหน้าลดเหลื่อมล้ำโรคมะเร็งควบคู่กับการที่รัฐบาลมีแนวทางจะลดความเหลื่อมล้ำโรคไตและโรคเอดส์ในระยะต่อไป เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย และเป็นสาเหตุการตายสูงสุด 1 ใน 5 ของคนไทย
ขณะที่สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกันอยู่มาก ทั้งการให้บริการ วิธีการจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาล ความแตกต่างของยามะเร็งที่ได้รับ หากรัฐบาลทำให้สิทธิประโยชน์โรคมะเร็งทั้ง 3 กองทุนเหมือนกันจะมีประโยชน์อย่างมากต่อความก้าวหน้าของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำตามที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 11 มิ.ย.55
- 79 views