เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมทวาราวดีฯ จ.ปราจีนบุรี นายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ(IS) ว่า จากข้อมูล(สำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ปี 2549) พบว่า การบาดเจ็บเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 1 ใน 3 อันดับแรกของประเทศไทย ในทุกกลุ่มอายุ และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 54ปี และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ คาดประมาณการค่าเสียหายถึง 1.2แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขนส่ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของกลุ่มการบาดเจ็บทุกสาเหตุในกลุ่มอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับภูมิภาค เขต และจังหวัด ให้มีความสามารถในการนำข้อมูลการบาดเจ็บในพื้นที่มาใช้จัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม เพื่อการดำเนินงานด้านอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดี น่าเชื่อถือ เพื่อใช้ในการวางแผน ควบคุมกำกับ ประเมินผล โดยเฉพาะการสร้างเสริมเครือข่ายเข้มแข็งและเพิ่มสมรรถนะของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการจัดการกับข้อมูลการบาดเจ็บที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และทันเวลา
นายแพทย์ภาสกร กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จัดทำระบบฐานข้อมูลที่ดีและมีบุคลากรที่พร้อมในการจัดการข้อมูลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย การป้องกันอุบัติเหตุทางถนน การพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้บาดเจ็บทั้งการนำส่ง การส่งต่อ การดูแลผู้บาดเจ็บที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล การติดตามประเมินผลโครงการ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรในด้านต่างๆ เพื่อให้ระบบและรูปแบบที่ได้รับการพัฒนานี้สามารถขยายไปสู่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในทุกจังหวัดที่มีความพร้อมโดยมุ่งเน้นเพื่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ
การประชุมครั้งนี้เกิดจากความร่วมมืออันดีระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคและศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ดำเนินการระหว่างวันที่ 6-8มิถุนายน 2555ณ โรงแรมทวาราวดี รีสอร์ท จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสารณสุข ให้มีความสามารถในการดำเนินการระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ(IS)ให้ได้ประสิทธิภาพ 2.เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานจากข้อมูลการบาดเจ็บและตายในโรงพยาบาล รวมถึงการพัฒนาเวชระเบียนอุบัติเหตุ 3.เพื่อประสานความร่วมมือการดำเนินป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บโดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจรระหว่างโรงพยาบาล จังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต ภาคีเครือข่ายคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัด และศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน
ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยบุคลากรจากโรงพยาบาลเครือข่ายการบาดเจ็บ บุคลากรผู้รับผิดชอบงานการบาดเจ็บ/อุบัติเหตุจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12เขตทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักระบาดวิทยา สำนักโรคไม่ติดต่อ คณะวิทยากรจากองค์การอนามัยโลก สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 120 คน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติงาน พัฒนาเครือข่ายและเสริมสร้างสมรรถนะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการจัดการข้อมูลการบาดเจ็บในพื้นที่เป้าหมายร่วมกัน
“นอกจากนี้ ได้มีพิธีมอบรางวัลแก่โรงพยาบาลที่จัดทำข้อมูลที่ได้คุณภาพ ครบถ้วน ทันเวลา ได้แก่ อันดับ 1โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี อันดับ 2โรงพยาบาลเลิศสิน กรุงเทพมหานคร และอันดับ 3โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช และมอบรางวัลให้แก่โรงพยาบาลที่ส่งข้อมูลได้ตามเป้าหมายอีกจำนวน 12แห่ง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อเป็นการป้องกันด้านอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ต่อไป”นายแพทย์ภาสกร กล่าวทิ้งท้าย
- 12 views