เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่โรงแรมริชมอนด์ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จัดเสวนา "ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว" โดย นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาภาคีวิชาชีพหมออนามัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากอันตรายของมะเร็งปากมดลูก สปสช. จึงเน้นการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันการเกิดโรค ในปี 2554 สปสช.มีโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านรายพบว่า สาวโรงงานเป็นกลุ่มเสี่ยงหนึ่งที่ทำงานตั้งแต่อายุน้อย และงานหนัก มีแฟนเร็วขึ้น โอกาสเสี่ยงก็มีมากกว่าคนทั่วไป

นพ.พูลชัย กล่าวว่า ได้เข้าไปตรวจในโรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจผู้มีสิทธิ 4,218 รายใน 10 คืน พบว่ามี 3 รายเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น และ 44 รายเป็นระยะที่กำลังจะเป็นมะเร็ง โดยทั้ง 47 รายนั้นมีสิทธิในระบบประกันสังคมกับโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน 6 แห่ง โครงการตรวจเจอตั้งแต่กรกฎาคม 2554 รายงานผลต้นเดือนกันยายน 2554 หลังจากนั้นได้ให้คำปรึกษา ต้องรักษาอย่างไรต่อไป แต่ปัญหาคือ ผู้ตรวจทั้ง 47 รายมีสิทธิรักษาตามประกันสังคมใน รพ.เอกชน 6 แห่ง ซึ่งปกติ จะรักษาด้วยวิธี  LEEP คือ แพทย์จะใช้กล้องส่องปากมดลูกและปาดผิวของปากมดลูกที่เป็นรอยโรคออก ซึ่งวิธีนี้เป็นการรักษาระยะเริ่มแรก หากรักษาทันก็หายขาด ที่สำคัญเครื่องมือถูกมากประมาณหมื่นบาท แต่ปรากฏว่า รพ. ดังกล่าวซึ่งมีเตียง 100 เตียงขึ้นไปกลับบอกไม่มีเครื่องมือนี้

"ตามขั้นตอน รพ.ต้องส่งต่อ แต่ รพ.ไม่ยอมรับผลตรวจ คัดกรอง ถ้าอยากรักษาต้องตรวจใหม่และต้องจ่ายเอง ผู้ประกันตนก็ยอมจ่ายค่าตรวจ 700 บาท ใช้เวลา 1 เดือนกว่าจะรู้ผล ทั้ง 47 คนต้องตรวจใหม่ และมี รพ.ธรรมศาสตร์เข้ามารับช่วงรักษาต่อ โดยเพิ่งได้รับการรักษาเมื่อเดือนเมษายน ยังเหลืออีก 4 คน เท่ากับเป็นการเสียเวลา และทำให้ภาวะโรครุนแรงขึ้นเรื่อยๆ" นพ.พูลชัย กล่าว และว่า ระบบประกันสังคมไม่มีการตรวจคัดกรอง มัก รักษามะเร็งระยะลุกลามมากกว่า เพราะ รพ.เอกชนส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องมือ LEEP ที่ตรวจคัดกรองระยะแรก เมื่อเดือนเมษายน ปี 2554 สปส.ประกาศเพิ่มเพดานรักษามะเร็งลุกลามจาก 50,000 เป็น 200,000 บาทต่อราย รัฐบาลควรมีนโยบายรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกให้ได้มาตรฐานเดียวทั้ง 3 ระบบ

ภายในงานยังมีการเสนอปัญหาจากภาคประชาชนเกี่ยวกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์ สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวนั้น ถือว่าดีแต่ทางปฏิบัติมีปัญหา โดย เฉพาะผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่เข้าข่าย พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถซึ่งเข้ารักษาฉุกเฉินที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าผู้ประสบภัยเสียชีวิต รพ.เรียกเก็บเงินจากญาติครั้งแรก 2 แสนบาท ทั้งที่เข้าข่ายนโยบายรักษาฉุกเฉิน จึงให้ไปเรียกเก็บกับ สปสช. รพ.อาจจะให้เซ็นรับรองว่าเป็นหนี้ ไม่ต้องกังวล ระบบจะจัดการเอง

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน 7 มิ.ย. 55