“สมศักดิ์” ส่งทีม MCATT ลงพื้นที่ เยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต เหตุรุนแรงในอิสราเอล เผย ผู้เสียชีวิต อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 3 ราย- เขตสุขภาพที่ 8 อีก 1 ราย กำชับ ให้เยียวยาต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเต็มที่ ด้านกรมสุขภาพจิต กำหนดแนวทางดูแลจิตใจครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอล
วันที่ 3 พฤศจิกายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในอิสราเอล ส่งผลให้คนไทยเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย ตนได้รับรายงานจาก โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ว่า คนไทยที่เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 1 รายนั้น เป็นบุคคลในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 รวม 3 ร่าง คือ 1.นายประหยัด พิลาศรัมย์ ภูมิลำเนา อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ 2.นายธนา ติจันทึก ภูมิลำเนา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา 3.นายกวีศักดิ์ ปาปะนัง ภูมิลำเนา อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา และมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย คือ นายฉัตรชัย ศิลป์ประเสริฐ ภูมิลำเนา อ.เมืองจ.ชัยภูมิ
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ทีม MCATT โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ได้เร่งประสานงานร่วมกับทีม MCATT จากสสจ.เขตสุขภาพที่ 9 แล้ว เพื่อวางแผนการลงพื้นที่เยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ส่วนที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ที่มีคนไทยเสียชีวิตอีก 1 ราย คือ นายอรรคพล วรรณไสย อายุ 29 ปี เป็นชาวตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งทีม MCATT ในพื้นที่ ก็ได้วางแนวทางการดูแลเยียวยาจิตใจแล้ว
“ทีม MCATT ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ได้ดำเนินการประสานข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทีม MCATT สสจ.อุดรธานี และรพ.กุดจับ โดยเบื้องต้นเครือข่ายระดับชุมชน ได้ลงเยี่ยมบ้านและได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า ครอบครัวของผู้เสียชีวิตมีอยู่ด้วยกัน 4 คน คือ พ่อ แม่ น้องสาวที่พิการ และลูก 1 คน ซึ่งทางครอบครัว ยังไม่ทราบข้อมูลว่า จะนำศพกลับมาไทยในช่วงไหน ทั้งนี้ ผมได้กำชับทีม MCATT ในทุกพื้นที่ ที่เกี่ยวข้อง ให้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ โดยเรื่องการดูแลเยียวยาจิตใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผมจึงได้เน้นย้ำ ให้ทีมเยียวยาจิตใจ ปฎิบัติตามมาตรการอย่างเข้มข้นด้วย“ รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ทำให้แรงงานไทยเสียชีวิต 4 คน 1 ในจำนวนนั้นได้รับการยืนยันว่าเป็นคนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี กรมสุขภาพจิต ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว และได้มอบหมายให้ทีมช่วยเหลือเยี่ยวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) เข้าพื้นที่และกำหนดแนวทางการดูแลเยียวยาจิตใจอย่างใกล้ชิด
“ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ได้ดำเนินการประสานข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทีม MCATT สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีและโรงพยาบาลกุดจับ ร่วมกับเครือข่ายระดับชุมชนลงเยี่ยมบ้าน และได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตมี อยู่ด้วยกัน 4 คน คือพ่อแม่ /น้องสาวที่พิการ และลูก 1 คน ซึ่งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ทีมจากทั้ง 3 หน่วยงานในพื้นที่ จะลงเยียวยาจิตใจครอบครัวในวลาต่อไป” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว
แนวทางดูแลจิตใจครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอล
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า และเนื่องจากสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย กรมสุขภาพจิตจึงกำหนดแนวทางดูแลจิตใจครอบครัวของแรงงานไทยในสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล แต่ละกลุ่มเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะวิกฤต (Impact Phase) ครอบคลุมช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมง ถึง 72 ชั่วโมง ซึ่งปฏิกิริยาทางใจที่จะแสดงออกในระยะนี้ ประกอบด้วย ช็อก โกรธ เศร้า เสียใจและวิตกกังวล ในช่วงระยะวิกฤตจะใช้แนวทางในการช่วยเหลือโดยวิธีการปฐมพยาบาลทางใจ
2. ระยะปรับตัว (Post-Impact Phase) ครอบคลุมช่วง 2 - 4 สัปดาห์ ซึ่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะพบว่า มีอาการเศร้า เสียใจ มีการกังวลกับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยมีแนวทางในการช่วยเหลือของระยะนี้ ประกอบด้วย การใช้วัคซีนใจในชุมชน เพื่อค้นหาแหล่งสนับสนุนในการช่วยปรับตัว และ 3.ระยะฟื้นฟู (Recovery Phase) จะเริ่มหลังจากเกิดเหตุการณ์ 1 เดือนเป็นต้นไป บางรายอาจจะเริ่มปรับตัวได้กับวิถีชีวิตใหม่ หรือบางรายอาจแย่ลงหากยังอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ แนวทางช่วยเหลือจะใช้วิธีจิตบำบัด หรือสังคมบำบัดเพื่อฟื้นฟูดูแลต่อเนื่องภายในชุมชน
แนะเสพข่าวสารต้องดูแลจิตใจตนเอง
ส่วนคนไทยที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด สามารถดูแลจิตใจด้วยตนเองเบื้องต้น ดังนี้ 1. รับประทานอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ 2. รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง 3. สังเกตอารมณ์ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวสารที่มากเกินไป ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรงต่างๆ และ 5. พูดคุยกับคนอื่นเพื่อระบายความรู้สึก เน้นการสร้างความเข้มแข็งทางใจ หากพบความผิดปกติของตนเองหรือคนใกล้ชิด ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษาและการบำบัดรักษา หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 อีกด้วย
- 89 views