เยาวชนแต่งผีบุกทำเนียบ ทำกิจกรรมทุบทำลายบุหรี่ไฟฟ้าและสารพัดปัจจัยเสี่ยง พร้อมยื่น 5 ข้อถึงนายกรัฐมนตรี ออกนโยบายปกป้องประชาชนจากปัจจัยเสี่ยง “บุหรี่ไฟฟ้า พนันออนไลน์ และภัยน้ำเมา”
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล แกนนำเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง นำโดยนางสาวศุภัทรา ภาแก้ว นางสาวเพชรลดา ศรัทธารัตนตรัย พร้อมด้วย เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว กว่า 50 คน แต่งกายด้วยชุดแฟนตาซีผี เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ในคอนเซ็ปต์ “รัฐอย่าลวง เด็กจะหลอน” เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนดนโยบายปกป้องเด็ก และเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนันออนไลน์ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด กัญชา กระท่อม อุบัติเหตุ
โดยตอนท้าย เยาวชนมีการทำกิจกรรมทุบทำลายบุหรี่ไฟฟ้า และปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบด้วย ทั้งนี้ นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับหนังสือแทน
นางสาวเพชรลดา กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนันออนไลน์ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม อุบัติเหตุ โดยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบนักดื่มหน้าใหม่ของไทยอายุ 15-19 ปี 30.8 % อายุ 20-24 ปี 53.3 % ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดื่มมากขึ้นคือการโฆษณา การตลาด ส่งเสริมการขาย นอกจากนี้ยังพบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7 % ลดจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 15.4 % อายุ 13-15 ปี พบสูบ 6,700 คน
ส่วนผลสำรวจการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนปี 2565 พบเด็กเยาวชนอายุ 13-15 ปี สูบ 17.6% เพิ่มขึ้น 5.3 เท่าจากปี 2558 ที่มีเพียง 3.3 % ขณะที่ปัญหาการพนัน ปี 2566 พบอายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 32.3% หรือ 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เสี่ยงติดพนัน 7.4 แสน เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า และใช้สารเสพติดสูงกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า ทั้งนี้ การเล่นพนันมีผลต่อสมองของเด็กขาดความยับยั้งช่างใจ เสพติดการพนันนำสู่การลักขโมยเงินไปเล่นพนัน
อีกหนึ่งผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่พบมากคืออุบัติเหตุทางถนน ซึ่งรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2566 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบมากถึง 17,498 คน เฉลี่ยวันละ 48 คน โดย 1 ใน 5 เป็นเด็ก เยาวชนอายุ 0-24 ปี หรือ 10 คน โดยสาเหตุเกิดจากไม่สวมหมวกนิรภัย 90.7% เมาแล้วขับ 38.3% ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 37.5% ส่วนการใช้กัญชานั้น ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการศึกษาปี 2566 พบในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 11.8 % ระดับปริญญาตรี 17.1 % เยาวชนนอกสถานศึกษา 47.60 % และข้อมูลจากศูนย์มินิธัญญารักษ์ ปี 2566 พบผู้ป่วยจิตเวชที่มีสาเหตุจากการเมทแอมเฟตามีน(ยาบ้า) ใบกระท่อม 2,381 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยในเพื่อบำบัดระยะยาวถึง 394 คน
ด้าน นางสาวศุภัทรา กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับเยาวชน เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนต่อรัฐบาลดังนี้
1.ขอคัดค้านนโยบายที่เสี่ยงต่อการมอมเมาเด็กและเยาวชน ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย การพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย และสุราเสรี
2.ขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่ปกป้องเด็กและเยาวชนให้เป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน อาทิ การเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน การสร้างทักษะชีวิต ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นแค่ความเป็นเลิศทางทางวิชาการ ในระบบแพ้คัดออก
3.รัฐบาลต้องเอาจริงกับการเรียกรับผลประโยชน์จากธุรกิจสีเทา โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด และบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ลูบหน้าปะจมูก
4.ขอให้สังคมช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ
5.ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองเด็ก และเยาวชนระดับจังหวัด และระดับชาติตื่นตัว เร่งทำงานเชิงรุกตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และสังคม โดยคำนึงถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
- 84 views