เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัด “เวทีเชิดชูเกียรติโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พื้นที่กรุงเทพมหานคร” เผยข้อมูล เด็ก 7 ขวบเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้า! "หมอเด็ก" ชี้แม้จะไม่สูบเอง แต่เด็กได้รับสารพิษจากบุหรี่มือสอง บุหรี่มือสาม กระตุ้นโรคหอบหืด ภูมิแพ้กำเริบ "จิตแพทย์" ย้ำ! บุหรี่ไฟฟ้าสัมพันธ์ภาวะซึมเศร้า มีแนวโน้มทำร้ายตัวเองได้

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัด “เวทีเชิดชูเกียรติโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พื้นที่กรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติโรงเรียนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และ โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ในพื้นที่กรุงเทพฯ  รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนบทเรียนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่โรงแรมเบสต์ เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยว่า จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565  โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน จากโรงเรียน 87 แห่งทุกภูมิภาค พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่า มีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น  มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น  

จากข้อมูลผลการสำรวจของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง “การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษา และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียน” ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า 39.3%  ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) และ 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้  ดังนั้นการปกป้องเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน 

เด็กไทยอยากรู้อยากลอง หันสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ตามโซเชียล

พญ.พิมพ์ชนก จันทร์สวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) กล่าวในการบรรยายพิเศษ บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ว่า ในประเทศไทย ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เด็กประถมตั้งแต่ ป.4-ป.6 เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสมัยที่เป็นบุหรี่มวน โดยส่วนใหญ่อยากรู้อยากลอง บางส่วนรู้สึกว่าเท่และใช้ตามโซเชียลมีเดีย มีส่วนน้อยที่ครอบครัวแนะนำให้สูบ โดยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีสารอันตรายอย่างนิโคติน ที่ส่งผลต่อหลายระบบในร่างกาย เช่น

  • กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจ
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
  • ส่งผลต่อโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ 
  • กระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน
  • กระตุ้นจำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดสมองตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • ในหญิงตั้งครรภ์ นิโคตินส่งผลต่อพัฒนาการของสมองทารกในครรภ์ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้ โดยเด็กที่คลอดก่อนกำหนดปอดจะไม่ดีต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

ไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้า ยังส่งผลต่อสุขภาพ เนื่องจากมีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดา จึงสามารถสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า โดยอนุภาคที่เล็กจะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ยากที่ร่างกายจะขับออกมา จึงทำให้ผู้สูบติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่มวน

เด็กรับสารอันตรายได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะหายใจเร็วกว่า

"ในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารผสมอยู่มากมาย มีการปรุงแต่งน้ำยาขึ้นมาเองได้ จึงมีสารที่ตกค้างและอันตรายมากขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมการสูบก็ง่าย ปริมาณนิโคตินก็จะเยอะเพราะสูบได้บ่อย ปริมาณนิโคตินตอนนี้ควบคุมไม่ได้จากการปรุงแต่งน้ำยา ยิ่งเพิ่มอัตราการติดเข้าไปอีก และยังซื้อได้ง่าย เด็กเข้าถึงโซเชียลมีเดียแล้วค้นหาก็เจอ" พญ.พิมพ์ชนก กล่าวและว่า

เด็กได้รับอันตรายได้มากกว่า เพราะว่าอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายของเด็ก ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งมีอัตราการหายใจที่ค่อนข้างเร็ว จึงสามารถหายใจเอาสารพิษเข้าสู่ปอดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ในระยะสั้นก่อให้เกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้กำเริบ ในบางคนที่รักษายากต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ด้วยอาการป่วยทำให้ไม่สามารถหยุดยาได้ เมื่อสอบถามพบว่า ส่วนใหญ่มีคนในบ้านสูบบุหรี่ 

คนในบ้านสูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลโรคหืดกำเริบในเด็ก

"บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อเด็กได้ในหลายระบบ ควันสามารถเข้าสู่ปอดของเด็กได้มาก เนื่องจากเด็กรับควันบุหรี่ไฟฟ้าได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะอัตราการหายใจของเด็กที่เยอะกว่า โครงสร้างของปอดเด็กที่พัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่ ควันที่ได้รับจากการสูบโดยคนในครอบครัว พ่อแม่ หรือควันบุหรี่มือสอง หรืออยู่ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน หรือสถานที่ปิดอย่างในรถโดยสาร ห้างสรรพสินค้า ก็สามารถรับสารพิษได้เหมือนกัน บุหรี่มือสอง บุหรี่มือสาม เด็กได้รับอันตรายไม่ต่างจากสูบเอง" กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ กล่าวและย้ำว่า 

บุหรี่ไฟฟ้าจะกระตุ้นทำให้โรคหืดกำเริบ ส่งผลต่อโรคภูมิแพ้ และในอนาคต อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันพบโรคหืดในเด็กเพิ่มขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะบ้านที่มีคนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันพบผู้ป่วยเด็กที่หอบกำเริบทุกเดือน เมื่อได้ซักประวัติทราบว่า พ่อของเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า จึงแนะนำให้เลิกบุหรี่ไฟฟ้า อาการป่วยของเด็กก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน และสามารถลดการใช้ยาเสตียรอยด์ที่ควบคุมอาการได้ด้วย

บุหรี่ไฟฟ้าสัมพันธ์ภาวะซึมเศร้า

ด้าน รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์การเสพติด ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินสูงมากกว่าบุหรี่ทั่วไป สารนิโคตินจึงทำให้เกิดการเสพติดได้ เพราะสมองของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ไม่เหมือนกับสมองของผู้ใหญ่ที่อายุ 25 ปีขึ้นไป 

หากเด็กวัยมัธยมศึกษาขึ้นไปได้รับสารนิโคติน จะทำให้เกิดการเสพติดได้ง่ายกว่า จากการวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ยังเพิ่มโอกาสในการสูบบุหรี่มวนมากขึ้น 3.5 เท่า ส่วนสำคัญอาจเกิดจากเด็กมองว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่เป็นอันตราย แพ็คเกจของบุหรี่ไฟฟ้ามีความสวยงาม การแต่งกลิ่น แต่งสี ที่ทำให้เข้าถึงเด็กและเยาวชน ส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงอยากรู้อยากลอง

"ด้านจิตเวช ก็มีความสัมพันธ์เช่นกัน แต่ยังต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แต่ก็พบว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นสัมพันธ์กับปัญหาซึมเศร้า หรืออาจทำร้ายตนเองได้ เมื่อเทียบกันแล้ว ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีภาวะซึมเศร้าได้มากกว่า ปัจจุบันหมอเจอผู้ป่วยที่มาปรึกษา สอบถามประวัติพบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย" รศ.พญ.รัศมน กล่าวและว่า 

ด้านจิตใจ การเสพติดโดยทั่วไป เมื่อเสพติดแล้วจะมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน เช่น เวลาใช้แล้วติดทางกาย เมื่อไม่ได้ใช้จะเกิดอาการถอน หงุดหงิด กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ จากการขาดสารต่าง ๆ ที่เคยใช้เป็นประจำ หรือต้องใช้ในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในระยะแรกเมื่อได้รับสารไป จะเกิดผลจากฤทธิ์ของสารในระดับหนึ่ง แต่เมื่อใช้ไปนาน ๆ เข้า สมองจะเปลี่ยนเป็นไม่ตอบสนอง จึงต้องใช้สารในปริมาณที่มากขึ้น หรือเรียกว่า ดื้อสาร

จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์การเสพติด ทิ้งท้ายว่า ในวงจรการใช้สารเสพติด บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หากได้รับสารเสพติดในช่วงแรกจะมีความสุขดี แต่สักพัก เมื่อไม่ได้ใช้จะยิ่งไม่มีความสุข คนที่มาเลิกบุหรี่ ในตอนนี้มักพบว่า มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมด้วย ทำให้การรักษาจะยากขึ้น เพราะพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น สูบได้ง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา ทำให้สูบได้บ่อย และได้รับสารอันตรายเข้าไปในร่างกายจำนวนมาก