กรมสุขภาพจิต แนะวิธีสื่อสาร “เพื่อนร่วมงาน” ที่เผชิญปัญหาเครียด ลดความขัดแย้ง พร้อมแนะวิธีการพูด หยุดใช้คำถามปลายปิด หรือปรึกษาสายด่วนโทร 1323
ภาวะเครียดจากการทำงาน กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน และในหลากหลายวิชาชีพ โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างคนทำงานร่วมกัน ทั้งหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน จะมีเทคนิคการสื่อสารอย่างไร เพื่อลดความเครียด ที่อาจสะสมจนกลายเป็นเครียดรุนแรง เสี่ยงภาวะซึมเศร้า
เรื่องนี้ นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความรู้ถึงเรื่องนี้ ว่า สถานที่ทำงานมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีผลต่อผลิตภาพ ที่เป็นผลผลิตของงาน รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยคนทำงานที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะทำงานได้ดี เรียนรู้ได้ดี องค์กรก็จะได้ผลผลิตที่ดีจากคนทำงานที่มีความสุข ดังนั้น สภาพของที่ทำงานมีความสำคัญมาก สำหรับทางกายภาพ หลัก ๆ จะเน้นใน 3 เรื่อง คือ
1.มีการแบ่งพื้นที่การทำงานอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความเป็นส่วนตัวได้
2.การออกแบบให้สถานที่ทำงาน มีพื้นที่สำหรับการปรึกษาได้อย่างง่ายเพื่อการจัดการงานที่ดีขึ้น
3.การใช้สีตกแต่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
3 เรื่องหลักลดความขัดแย้ง
นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานนั้น จริง ๆ ธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่อเรามีสัมพันธภาพกับคนอื่น ๆ ก็จะมีทั้งเรื่องที่ถูกใจและไม่ถูกใจเรา ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความขัดแย้งได้ กรมสุขภาพจิตจะเน้น 3 เรื่องหลัก คือ
1.สอดส่องมองหา เพื่อดูปฏิกิริยาทางอารมณ์ของผู้อื่น เรื่องเหล่านี้ถ้าเราสอดส่องมองหา เราจะเข้าใจ เช่นเรื่องที่เราพูดไป คนอื่น ๆ อาจจะไม่ได้รู้สึกดีทุกเรื่องได้ เมื่อเราเห็นก็จะต้องมีการพูดคุยกันให้มากขึ้น ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจกัน
2.ใส่ใจรับฟัง เรื่องนี้มีความสำคัญกว่าการพูด เพราะการฟังทำให้เรารู้ว่า ผู้อื่นมีความคิดอย่างไร ทำให้รู้ว่าความคิดที่เกิดขึ้นนั้น จริง ๆ มีสาเหตุจากอะไรบ้าง ก็จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันได้
3.ส่งต่อเชื่อมโยง กรณีที่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดความสามารถในการแก้ไขของเรา อาจต้องส่งต่อไปยังผู้ที่สามารถช่วยเหลือได้ เช่น แผนกบุคลากร ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไข หรือกรณีที่เป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เรื่องที่ไม่สบายใจ
“กรมสุขภาพจิตแนะนำว่าทุกองค์กรควรจะมีระบบให้ความช่วยเหลือด้านนี้แล้ว หรือถ้ายังไม่มีระบบนี้ ก็ควรมีการแนะนำให้โทรขอคำปรึกษาจากสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323” นพ.บุรินทร์กล่าว
แนะวิธีสื่อสารเพื่อนร่วมงานที่เผชิญปัญหาเครียด
เมื่อถามถึงคำแนะนำสื่อสารอย่างไรกับเพื่อนร่วมงานที่กำลังเผชิญปัญหา โดยเฉพาะปัญหาทางสุขภาพจิต นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อเราผ่านการสังเกต เห็นได้ว่าเพื่อนร่วมงานต้องการความช่วยเหลือ หรือกำลังเจอกับปัญหา อันดับแรก คือ การสัมผัสด้วยการแตะบริเวณไหล่ แตะมือ แตะบ่า แต่ต้องดูบริบทด้วย หากเป็นเพื่อนร่วมงานต่างเพศ กรณีนี้อาจดูไม่ดีได้ จึงต้องระวัง โดยการสัมผัสนั้นจะสร้างความรู้สึกดีขึ้นได้ ต่อมา การพูดคุยด้วยประโยคปลายเปิดสั้น ๆ เช่น มีอะไรที่อยากให้เราช่วยหรือไม่
คำถามปลายปิดที่ไม่ควรพูด
“คำถามที่ไม่ควรถามคือ คำถามปลายปิด เช่น คุณเครียดใช่หรือไม่ คุณเป็นซึมเศร้าหรือไม่ เพราะนั่นจะทำให้เขาจะต้องตอบตามที่เราถาม นั่นจะทำให้เราไม่เห็นในใจเขาว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เพราะใจเขากำลังปิดอยู่” นพ.บุรินทร์ กล่าว และว่า หรือทางที่ดีในเรื่องประโยคการพูด สามารถปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร 1323
นพ.บุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยคที่ดีในการใช้สื่อสาร เช่น หากเธอยังไม่พร้อมจะคุยกัน ฉันยังอยู่ตรงนี้นะ และประโยคบอกที่ดีมากในการสื่อสาร คือการบอกเขาว่า เขานั้นมีความสำคัญกับเรา เขาเป็นคนเก่ง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้ว่า เขามีคุณค่าในตัวเอง เพราะช่วงที่คนเรากำลังทุกข์ใจ เรามักจะมองแง่ลบไปทุกเรื่อง แต่การพูดประโยคเหล่านี้ จะทำให้เขารู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำให้ใจเขาฟูขึ้นมาได้
- 101 views