รมว.สธ.เตรียมคิกออฟ ลดผู้ป่วย NCDs เวทีแรก จ.สงขลา 1 พ.ย.นี้ จ่อเดินสาย 6 ภูมิภาค หวังลดคนเจ็บ-ป่วย หลังพบข้อมูลคนไทยต้องรักษาโรคนี้ 33 ล้านคน ชี้มีคนป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นถึงปีละ 3 แสนคน เสียงบประมาณ สปสช. กว่า 6 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนคนไทยห่างไกล NCDs โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งแรกหลังจากที่ตนได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ พร้อมคณะอนุกรรมการ อีก 6 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการลดโรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ครบวงจร ตั้งแต่การสนับสนุนด้านวิชาการ การบริการสุขภาพทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย อสม. และภาคประชาชน ในการดูแลสุขภาพ สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี โดยหลังจากกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายลดโรค NCDs ก็ได้รับการสนับสนุนจากสังคม ทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และนอกกระทรวงด้วย ซึ่งเมื่อสังคมตอบรับแล้ว เราก็ต้องดำเนินการให้สอดคล้องอย่างเร่งด่วน เพราะต้องยอมรับว่า กว่านโยบายจะเห็นผล ก็ต้องใช้เวลา ดังนั้น เราต้องมีการวางแผนขับเคลื่อนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการทำข้อมูลตัวเลข
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ เราต้องมีตัวเลขชัดเจนว่า ภายใน 1 ปี จะช่วยลดผู้ป่วยโรค NCDs และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐทางตรงได้เท่าไหร่ ซึ่งถ้ามีฐานข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งรัฐบาล และเอกชน ก็พร้อมสนับสนุนเราอย่างเต็มที่ ตนจึงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสรุปตัวเลขให้ชัดเจนด้วย โดยข้อมูลที่ตนมีขณะนี้ คือ ปัจจุบัน มีคนป่วยในระบบการรักษาเพราะ NCDs จำนวนกว่า 33 ล้านคน ซึ่งเฉพาะเบาหวาน มีคนป่วยเพิ่มขึ้น ปีละ 300,000 คน ส่วนมะเร็ง ปีละกว่า 140,000 คน ทำให้ในปี 2560 งบประมาณจำนวน 127,651 ล้านบาท ของสปสช. เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา โรค NCDs สูงถึงกว่า 62,138 ล้านบาท
“การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่เราจะเปลี่ยนจากนโยบายไปสู่แนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีการวางแนวทางการขับเคลื่อนไว้ 5 ด้าน คือ 1.ให้ความรู้กลุ่มเป้าหมาย อสม. ประชาชน 2.ระบบบริการเชื่อมต่อระบบบริการสู่ชุมชน 3.ระบบฐานข้อมูลสุขภาพ 4.สื่อสารประชาสัมพันธ์ และ 5.กลไกติดตามประเมินผล โดยมีไทม์ไลน์ในไตรมาสแรกคือ 1.จัดกิจกรรมคิกออฟ 6 ภูมิภาค เริ่มที่แรกที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ 2.จัดตั้งคณะทำงานทุกจังหวัด 3. จัดตั้งคลินิก NCDs Remission ในรพ.ทุกระดับ และรพ.สต. 1 แห่ง/อำเภอ และ 4.จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ระดับอำเภอ 1 แห่ง/อำเภอ ซึ่งแผนการขับเคลื่อนโครงการนี้ ผมมั่นใจว่า จะช่วยลดผู้ป่วย NCDs ได้ เพราะหากพี่น้องประชาชน เข้าใจการทานอาหารที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดการเจ็บป่วยได้ทันที” รมว.สาธารณสุข กล่าว
- 604 views