ไทยป่วยโรคสะเก็ดเงินกว่า 1.7 ล้านคน พบ 30%  อาการหนัก บางรายไม่สามารถใช้ยาพื้นฐาน สมาคมโรคผิวหนังฯ ผลักดัน “ยาฉีดชีวโมเลกุล” เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ หวังครอบคลุมสิทธิบัตรทอง คืนชีวิตให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์เมื่อโรคกำเริบ แพทย์ย้ำ!  ยาฉีดช่วยอาการสงบ แต่ไม่หายขาด และไม่สามารถใช้ได้กับคนไข้ทุกคน มีข้อบ่งชี้ บางกลุ่มใช้ไม่ได้

 

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่สถาบันโรคผิวหนัง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์  ให้สัมภาษณ์ภายในการเปิดงานวันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day 2024) ซึ่งตรงกับทุกวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี  โดยงานนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Psoriatic Disease and the Family” หรือ “ครอบครัวรวมจิต  ดูแลชิดใกล้ ห่วงใยโรคสะเก็ดเงิน” ว่า ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีมากกว่า 125 ล้านคนทั่วโลก ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้

ไทยป่วยสะเก็ดเงินกว่า 1.7 ล้านคน แนวโน้มเยอะขึ้น

ในประเทศไทยข้อมูลจาก Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะเก็ดเงิน 1,748,704 คน หรือ 1-2%ของประชากร แนวโน้มจะเยอะขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย อย่างแพทย์เฉพาะทางจะพบได้เร็วขึ้น แต่ปัญหาคือ โรคนี้อาจร่วมกับภูมิแพ้อื่นๆ ทำให้ไม่สามารถแยกโรคตอนต้นๆ  ยกเว้นป่วยซ้ำ อาการของโรคมากขึ้นก็จะชัดเจน

ทั้งนี้ สามารถสังเกตอาการได้จากผื่นที่กระจายทั่วตัว แห้งลอกเป็นขุย ตุ่มหนอง เป็นแผลพุพอง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนโรคร่วมในอวัยวะส่วนอื่นๆที่รุนแรงร่วมด้วย โดยเฉพาะความพิการในระบบข้อต่อต่างๆ จึงทำให้คนทั่วไปที่พบเห็นรังเกียจคิดว่าเป็นโรคติดต่อ ทำให้ได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตการเข้าสังคม การประกอบอาชีพ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สภาพจิตใจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและโรคอื่นๆร่วมด้วย นอกจากนี้ ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยต่อครั้งของผู้ป่วยที่มารักษาที่สถาบันโรคผิวหนัง เฉลี่ย 3,077 บาทต่อครั้ง ในกรณีที่จ่ายเอง

“ที่ผ่านมาสถาบันโรคผิวหนังมีเทคโนโลยีในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้แสงยูวี ใช้ยาทาภายนอก ยากิน และล่าสุดมียาฉีด เพื่อปรับระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะมีหลายปัจจัย ทั้งกาย จิตใจ สภาพแวดล้อม  ซึ่งยาฉีดปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมสิทธิรักษาบัตรทอง  แต่อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ต้องย้ำว่า ยาฉีดไม่ใช่ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกคน จะมีข้อบ่งชี้  เช่น ไม่สามารถใช้ยาพื้นฐานได้ และต้องใช้ทางการแพทย์” อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

จ่อศึกษาแนวทางรักษาร่วม "แพทย์ตะวันตกและตะวันออก"

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการศึกษาเรื่องเชื้อไทย ภูมิประเทศว่าก่อให้เกิดโรคสะเก็ดเงินด้วยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แน่นอน ทางกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการศึกษาแบบมัลติเซ็นเตอร์ เพราะผู้ป่วยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น แกนหลักของไทยจะมีความเหมือนหรือต่างจากชาติอื่นๆอย่างไรก็จะมีการศึกษาต่อไป นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือกับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนตะวันออก เพื่อผสมผสานการรักษากับแพทย์แผนตะวันตกอีกด้วย เพื่ออนาคตจะจัดทำเป็นเวชปฏิบัติต่อไป

ยาฉีดชีวโมเลกุล อีกทางเลือกผู้ป่วยดื้อยา

นพ.สกานต์ บุนนาค  รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณียาฉีดสำหรับผู้ป่วยสะเก็ดเงิน จะมีข้อบ่งชี้เฉพาะกลุ่มที่ค่อนข้างดื้อยา ซึ่งสิทธิสวัสดิการข้าราชการสามารถใช้ได้ แต่เป็นกรณี ต้องมีข้อบ่งชี้ชัดเจน และยานี้ราคาค่อนข้างสูงหลักหมื่นบาท จึงต้องย้ำว่า ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนต้องใช้

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมอีกว่า  ยาฉีดชีวโมเลกุล สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน เป็นยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้อาการสะเก็ดเงินลดลงและดีขึ้น เรียกว่าทำให้อาการสงบลง  แต่ยากลุ่มนี้มีหลายตัว บางตัวฉีดทุกสัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ก็ดีขึ้น แต่ข้อจำกัดคือ ราคาสูง และยังมีผลข้างเคียงบางอย่าง เพราะไปกดภูมิ ทำให้มีข้อจำกัดในคนไข้บางกลุ่ม เช่น มีโรคติดเชื้อซ้อนเร้นอยู่  วัณโรค เป็นต้น ดังนั้น การจะใช้ยากลุ่มนี้จึงไม่ถูกนำมาใช้เป็นตัวแรกๆ อย่างยากิน ยาทา จึงจำเป็นต้องมีแพทย์ประเมินตรวจวินิจฉัย

“ต้องย้ำว่า ยากลุ่มนี้แม้จะทำให้โรคสงบ ดีขึ้น แต่ไม่การันตีว่าทำให้หาย ซึ่งอาการจะสงบยาวนานแค่ไหนขึ้นกับบุคคล บางคนอาจอาการสงบ 1 ปี หรือ 2 ปี ” นพ.จินดา กล่าว   

เมื่อถามว่าจะมีการเสนอเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองหรือไม่ นพ.จินดา กล่าวว่า ในฐานะเป็นนายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย มีการหารือกับทางสถาบันโรคผิวหนังว่า ควรนำเสนอประเด็นดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ รวมไปถึงอีก 2 กองทุน ทั้งประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ เนื่องจากข้าราชการใช้ได้แต่ต้องมีความจำเพาะเป็นกรณี

พญ.เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวอีกว่า ด้วยปัจจุบันยาฉีดมีหลายตัว จึงต้องมีการต่อรองราคา โดยยาตัวไหนที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมกับเศรษฐานะของไทย ก็จะผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ หากพิจารณาอนุมัติก็จะทำให้กองทุนต่างๆ ทั้งข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทองใช้ได้หมด  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะใช้ได้ ขณะนี้สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ กำลังต่อรองราคาร่วมกับกรมบัญชีกลาง  เพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไข้ที่จะใช้ยากลุ่มนี้ต้องเป็นโรคสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงรุนแรง มีประมาณ 30%ของคนไข้สะเก็ดเงินทั้งหมด และต้องมีข้อบ่งชี้ในการใช้

ด้าน นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเติมว่า การจัดงานวันสะเก็ดเงินโลกโดยสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ภายใต้แนวคิด “Psoriatic Disease and the Family” หรือ “ครอบครัวรวมจิต  ดูแลชิดใกล้ ห่วงใยโรคสะเก็ดเงิน”  ในปีนี้ได้จัดขึ้นในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์ให้สังคมเข้าใจเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินที่ถูกต้อง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาระบบบริการและการเข้าถึงการรักษาโรคสะเก็ดเงิน และเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักรู้ถึงโรคสะเก็ดเงินสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และครอบครัวของผู้ป่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินและมีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง รวมถึงการเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการร่วมกันทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบันในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โดยรวมเพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย หน่วยงานจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หน่วยงานจากกรมสุขภาพจิต  โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลอื่นๆในสังกัดกรมการแพทย์ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง