คสช. เห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น สานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ เตรียมเสนอเข้า ครม. ออกนโยบายทางการคลัง ใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อลดโรค
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ที่มีสาระสำคัญในการพัฒนา 5 ระบบและกลไกที่สนับสนุนให้เกิด 5 มาตรการป้องกันและควบคุมการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กลไกการคลัง และกลไกเครดิตทางสังคม
พร้อมกันนี้ที่ประชุม คสช. ยังได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และมีนโยบายทางการคลังสนับสนุนการใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานระดับจังหวัด และท้องถิ่นระดับต่างๆ พิจารณานำสาระสำคัญของมติบรรจุเป็นนโยบายและแผนเพื่อดำเนินการตามบทบาทภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะ ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ เปิดเผยว่า โรค NCDs นับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องจัดการ เพราะเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของคนไทย ที่คิดเป็น 81% ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือมากกว่า 4 แสนรายต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ถึงประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี และจะยิ่งมีความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นเพราะคนที่ป่วยด้วยโรค NCDs เริ่มมีช่วงอายุที่ต่ำลง
สำหรับมติสมัชชาสุขภาพฯ เรื่อง NCDs นี้ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมกว่า 200 หน่วยงาน/คน บนเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 โดยมีกรอบทิศทางนโยบายที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันเป็นหุ้นส่วนและเครือข่าย ในการสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม การมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ การลดปัจจัยเสี่ยง ละ เลิกเหล้า บุหรี่ ลดการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น ไม่ป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ขณะเดียวกันยังจะดำเนินการควบคู่กับการขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม พร้อมใช้มาตรการหลักเพื่อจัดการสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคม รวมถึงหลักการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กลไกเครดิตทางสังคม และกลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เป็นหลักประกันทางสังคมแก่ประชาชน
นพ.โสภณ กล่าวว่า แม้ปัญหา NCDs จะเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพที่ทุกภาคส่วนร่วมกันต่อสู้มาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม มติสมัชชาสุขภาพฯ เรื่องนี้ได้เน้นไปที่การนำหลักการใหม่อย่าง ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ เข้ามาใช้ ที่ไม่ใช่การใช้ความรู้สึกหรือความเชื่อ แต่เป็นเรื่องของการใช้ข้อมูล แล้วนำไปสร้างการสะกิดง่ายๆ เพื่อให้คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น การวางผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพอยู่ในชั้นวางสินค้าระดับสายตา เพื่อให้คนรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อันตรายสุขภาพก็หลบไว้ให้เข้าถึงได้ยาก
นอกจากนี้ ยังรวมถึงหลักการ ‘กลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ’ เช่น หากหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทใดทำให้บุคลากรของตนสามารถลดน้ำหนัก หรือเกิดพฤติกรรมทางกาย อย่างการไปเข้าฟิตเนส แล้วเราจะให้แรงจูงใจทางภาษี หรือ Tax Incentive ได้หรือไม่ ตลอดจนหลักการ ‘กลไกเครดิตทางสังคม’ ที่เราอาจเคยพูดถึงคาร์บอนเครดิตที่เป็นกลไกในแง่การลดโลกร้อน แต่การลด NCDs นี้อาจจะเป็นกลไกอย่างแคลอรี่เครดิต ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ใช้งานในด้านนี้อยู่ หากมีการต่อยอดไปใช้วัดในระดับองค์กร จะกลายเป็นเครดิตหรือหลักทรัพย์ของบริษัทได้หรือไม่ ซึ่งแนวทางการสร้างแรงจูงใจเหล่านี้ คือสิ่งที่เราคิดออกมาเป็นแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การป้องกันและควบคุมโรค NCDs มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนอกเหนือจากหลักการใหม่ๆ ที่นำมาเป็นแนวทางแล้ว มตินี้ยังได้ระบุถึงอีก 5 มาตรการหลักที่เป็นรูปธรรม ได้แก่
1. ลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น การจำกัดเวลาจำหน่ายและโฆษณาเหล้า บุหรี่
2. ส่งเสริมการผลิตและเข้าถึงสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การนำสินค้าเหล่านี้ไปให้เข้าถึงได้ง่ายในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก
3. สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อให้ประชาชนสามารถออกกำลังกายได้ง่าย ซึ่งเรื่องนี้อาจยังมีความเหลื่อมล้ำที่ทำได้ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละจังหวัดอยู่
4. สร้างความตระหนัก รอบรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ถูกต้องและเหมาะสม
5. เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีประสบการณ์ ได้สัมผัสกับกิจกรรมเหล่านี้ อย่างการใช้งานแอปฯ แคลอรี่เครดิต
นอกจากที่ประชุม คสช. จะมีมติเห็นชอบแล้ว ยังได้มีการให้ข้อเสนอแนะถึงประเด็นต่างๆ เช่น การใช้มาตรการเชิง Positive อย่างเดียวอาจไม่แรงพอ จึงต้องเพิ่มการแก้ปัญหาในเชิง Negative อย่างการบังคับใช้หรือมีบทลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลที่รวดเร็วตามมา, เสนอให้มีการรณรงค์ สื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ในเบื้องต้น ที่เข้าใจได้ง่ายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับต่างๆ, แก้ไขข้อระเบียบของท้องถิ่นที่ติดขัด เพื่อสนับสนุนการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ซึ่งทางกรรมการพัฒนานโยบายฯ ได้รับไว้เป็นข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณา หรือเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อไป
ด้าน ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่อง NCDs นั้นเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย และถือเป็นบทบาทสำคัญที่สอดคล้องกับภารกิจของ สช. ในการที่จะเข้าไปร่วมผลักดัน ขับเคลื่อน กำกับทิศทาง รวมถึงบูรณาการเอาหลักการเหล่านี้เข้าไปในเครื่องมือต่างๆ ของ สช. เช่น ธรรมนูญสุขภาพ เพื่อให้แนวทางเหล่านี้สามารถนำลงไปขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ท้องถิ่น หรือชุมชนต่างๆ ได้
- 279 views