ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศ หลักเกณฑ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการ "จัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ" เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ทุพพลภาพ
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศ สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ลงนามโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สำหรับรายละเอียดเนื้อหาระบุว่า ประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2567 โดยที่เป็นการสมควรกําหนดหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขในหน่วยบริการตามกฎหมายว่าด้วย หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การดําเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
อาศัยอํานาจตามความในข้อ 10 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดําเนินงานและบริหารจัดการระบบ หลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2567 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดําเนินงาน และบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 และข้อ 10 (11) แห่งประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุน ให้กรุงเทพมหานครดําเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2567
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครดําเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2567"
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานอื่น องค์กรหรือกลุ่มประชาชน มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายสําหรับบริการพาหนะ รับส่งผู้ทุพพลภาพ ภายใต้โครงการที่คณะกรรมการกองทุน หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย พิจารณาอนุมัติ แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้
ข้อ 4 ค่าใช้จ่ายสําหรับบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพให้จ่ายสําหรับการให้บริการแก่บุคคล
1) คนพิการ ได้แก่ บุคคลซึ่งมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวัน การดําารงชีวิตหรือการทํากิจวัตรทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด และมีความจําเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรม ในชีวิตประจําวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป
2) ผู้สูงอายุ ได้แก่ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปที่มีความจําเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ โดยไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในการทํากิจวัตรประจําวันพื้นฐาน หรือมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่ต้องการ การดูแลอย่างต่อเนื่อง หรือมีภาวะทุพพลภาพทางร่างกายหรือจิตใจ และขาดผู้ดูแลหรือญาติพี่น้อง ที่สามารถให้การช่วยเหลือได้
3) ผู้ป่วยที่มีความยากลําบากในการไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเอง ได้แก่ บุคคล ที่มีข้อจํากัดทางร่างกาย มีปัญหาด้านสุขภาพจิต มีโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหรือการเดินทาง หรือบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร หรือเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ยาก ที่มีฐานะยากจนไม่สามารถจ่ายค่าเดินทางไปสถานพยาบาลได้ ขาดผู้ดูแลหรือญาติที่สามารถพาไปรับบริการหรือบุคคล ทางการแพทย์ มีอุปสรรคด้านการสื่อสารที่ทําให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ด้วยตนเอง หรือบุคคลที่ต้องการการดูแลพิเศษระหว่างการเดินทาง หรือมีความกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงเกี่ยวกับการออกนอกบ้าน หรือการเข้ารับบริการทางการแพทย์
ข้อ 5 ค่าใช้จ่ายสําหรับบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน หรือเครือข่ายซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการรับรองมาตรฐาน
ให้จ่ายตามที่กําหนดในโครงการในอัตราอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1) จ่ายรายครั้งบริการ (ไปหรือกลับ หรือไปและกลับ) ในอัตราไม่เกิน 350 บาทต่อเที่ยว (2) จ่ายเหมาบริการรายวันในอัตราไม่เกิน 5,000 บาทต่อคันต่อวัน
ข้อ 5 ให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรักษาการตามประกาศนี้
- 1018 views