สธ.เผยน้ำท่วมเชียงใหม่ เริ่มลดลง กำชับ 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเฝ้าระวัง ล่าสุดพบสถานการณ์เพิ่มที่ "สุพรรณบุรี" เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ที่สงขลา 1 ราย และเชียงใหม่ 2 ราย ส่วน "ลำพูน" อ.เมือง ระดับน้ำยังสูง ด้านผู้ตรวจฯเขตสุขภาพที่ 1 ส่งทีมแพทย์ช่วยเหลือผู้ประภัยน้ำท่วม และกลุ่มเปราะบาง
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 20/2567 ว่า ภาพรวมมีสถานการณ์ใน 15 จังหวัด โดยรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มี 3 จังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คือ ลำปาง ขอนแก่น และเลย
ส่วนจังหวัดที่มีสถานการณ์ใหม่ คือ สุพรรณบุรี ด้านผู้เสียชีวิตพบเพิ่มขึ้น 3 ราย ได้แก่ เชียงราย 2 ราย สาเหตุจากไฟฟ้าดูด 1 ราย กระแสน้ำพัด 1 ราย ซึ่งพบร่างแล้วหลังสูญหาย และสงขลา 1 ราย จากการจมน้ำ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 60 ราย บาดเจ็บสะสม 2,381 ราย ไม่มีผู้สูญหาย
ปิด 12 หน่วยบริการสาธารณสุข
"ปัจจุบันมีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 105 แห่ง ปิดให้บริการ 12 แห่ง โดย 11 แห่งอยู่ใน จ.เชียงใหม่ และอีก 1 แห่งอยู่ จ.พิจิตร ภาพรวมรอบวันที่ผ่านมาจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 73 ทีม ให้การดูแลประชาชน 2,431 ราย สะสม 211,680 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น 537 ราย สะสม 32,319 ราย ประเมินสุขภาพจิตเพิ่ม 394 ราย พบเสี่ยงซึมเศร้า 1 ราย ได้รับการดูแลทางจิตใจจนอาการดีขึ้น ไม่ต้องส่งต่อพบแพทย์" นพ.สฤษดิ์เดชกล่าว
น้ำหลากใน จ.เชียงใหม่ ขณะนี้แนวโน้มน้ำเริ่มลดลง เตรียมดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดต่อไป ส่วน จ.ลำพูน น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ โดย อ.เมือง ระดับน้ำกวงเพิ่มสูงขึ้นและรับมวลน้ำจาก จ.เชียงใหม่ มีแนวโน้มเกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมซ้ำ ได้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์และให้ รพ.สต. จัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ออกเยี่ยมประเมินอาการเจ็บป่วยและสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ประสบภัย ส่วน อ.ป่าซาง อ.เวียงหนองล่อง อ.บ้านโฮ่ง ระดับน้ำลดลงทั้งหมด ไม่มีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ
รพ.สุโขทัย รับผลกระทบเล็กน้อย
“ขณะที่ รพ.สุโขทัย ซึ่งได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากน้ำท่วม ได้เร่งระบายน้ำแล้ว คาดว่าเย็นวันนี้จะคลี่คลายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการผู้ป่วย สำหรับ จ.ชัยนาท ที่มีมวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางเกษตร พบว่าพื้นที่เหนือเขื่อนระดับน้ำเริ่มคงที่และมีแนวโน้มลดลง ส่วนพื้นที่ท้ายเขื่อนยังต้องเฝ้าระวัง หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วเช่นกัน” นพ.สฤษดิ์เดชกล่าว
เฝ้าระวังแผ่นดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก 7-8 ต.ค.
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์มี 3 จังหวัดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง คือ เชียงใหม่จากแม่น้ำปิง พิษณุโลกจากแม่น้ำยม และพิจิตรจากแม่น้ำน่าน และมีพื้นที่เฝ้าระวังแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 7-8 ตุลาคม 2567 คือ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ได้แจ้งเตือนให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้เตรียมพร้อม นอกจากนี้ ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เตรียมรับสถานการณ์เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม ซึ่งขณะนี้เริ่มมีน้ำท่วมบางพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำที่ จ.อ่างทอง โดยให้เฝ้าระวังสถานการณ์ ป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล และเตรียมพร้อมทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ประสบภัย
เขตสุขภาพที่ 1 ช่วยเหลือผู้ประสบภัย-กลุ่มเปราะบาง
วันเดียวกัน นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจเขตสุขภาพที่ 1 เปิดเผยภายหลังการประชุมทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน เขตสุขภาพที่ 1 PHEOC ครั้งที่ 3//2567 ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ส่งทีมปฏิบัติการสาธารณสุข ได้แก่ ทีมแพทย์สมรรถนะสูง ทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และอาสาสมัคร รวมทั้งทีมสนับสนุนด้านสุขภาพจิต สิ่งแวดล้อม ควบคุมป้องกันโรคและศูนย์แลปเคลื่อนที่ จำนวน 162 ทีม ลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัย จากกรณีประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุ “กระท้อน” พบว่าประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ที่อำเภอสะเมิง
ส่วนอำเภอเมือง ได้รับบาดเจ็บเพิ่มจากไฟฟ้าดูด 6 ราย ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 4 ราย และลำพูน จำนวน2 ราย สถานบริการได้รับผลกระทบ 14 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ปิดบริการ จำนวน 2 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ปิดบริการ จำนวน 8 แห่ง โรงพยาบาล ปิดบริการ จำนวน 3 แห่ง ขณะนี้มีศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 61 แห่ง และจังหวัดเชียงราย จำนวน 1 แห่ง สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 ได้ดำเนินการดูแล และ evaluation กลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่
ผู้ตรวจฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จังหวัดเชียงราย อยู่ในช่วงระยะฟื้นฟูพื้นที่ และกำลังเร่งฉีดวัคซีน จำนวน 1,000 โดสให้ทีมอาสาสมัครลงพื้นที่ ทั้งนี้ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 ได้ดำเนินการวางแผน เตรียมความพร้อมการปฏิบัติของชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่เสี่ยงแบบเชิงรุก และหน่วยแพทย์ประจำวันในศูนย์พักพิงที่มีผู้ประสบภัยอาศัยอยู่จำนวนมาก ให้บริการเป็น One Stop Service พร้อมเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์การแจ้งเหตุฉุกเฉิน ผ่าน 1669
- 222 views