สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เตือนอาการมองเห็นผิดปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทการมองเห็น หากกรอกตาแล้วเจ็บ ปวดตา ตาแดง ปวดศีรษะ การได้ยินผิดปกติ ควรพบแพทย์ อันตรายและเสี่ยงตาบอด
เมื่อวันที่ 16 กันยายน ผศ.พิเศษ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การมองเห็นผิดปกติ สามารถเกิดได้จากโรคของตาเอง เช่น ตาแดง ตาอักเสบ ต้อหิน ต้อกระจก แต่การมองเห็นที่ผิดปกติบางชนิด โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ทันทีทันใด มักมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทการมองเห็น โดยอาจจะเป็นความผิดปกติที่สมอง เส้นประสาทตา หรือจอประสาทตาก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
- Vogt-Koyanagi-Harada Diseases (VKH)
- Neuromyelitis Optica (NMO)
- Multiple Sclerosis (MS)
- โรคหลอดเลือดสมอง
หากผู้ป่วยมีอาการมองเห็นผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ตาข้างเดียว หรือเป็นทั้ง 2 ข้าง กรอกตาแล้วเจ็บ ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา ตาแดง การได้ยินผิดปกติ เห็นภาพซ้อน ควรรีบเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้านในทันที เพื่อตรวจประเมินสาเหตุของการเกิดโรค อันจะนำไปสู่การรักษาต่อไป
ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า VKH เป็นโรคที่พบได้ แต่อาจจะไม่บ่อยมาก ผู้ป่วยมักจะมาตรวจด้วยอาการม่านตาอักเสบ การมองเห็นผิดปกติ ปวดตา ตาแดง ปวดศีรษะ การได้ยินผิดปกติ ผมร่วง ผมหงอกเป็นหย่อม ๆ หรือผิวหนังมีอาการด่างขาว โรคนี้มักพบในคนเอเชียมากกว่าชนชาติอื่น โดยคนอินเดีย และคนไทย พบสาเหตุของม่านตาอักเสบ จาก VKH มากที่สุดในโลก ผู้ป่วยมักมีอายุอยู่ 20-39 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในอายุที่น้อยกว่าหรือมากกว่านั้น สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่เกิดขึ้นกับร่างกายในหลายอวัยวะ ได้แก่ ตา สมอง หู ผิวหนัง เป็นต้น
ทั้งนี้ การทำงานที่ผิดปกติ อาจจะเกิดขึ้นเองในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีพันธุกรรมบางชนิด หรือเกิดตามหลังการอักเสบติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ หรือตามหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 หรืออาจจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุก็ได้ เมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจรักษา จะได้รับการตรวจประเมินการมองเห็นโดยจักษุแพทย์ ร่วมกับการประเมินความผิดปกติทางระบบประสาทโดยอายุรแพทย์ระบบประสาท และพิจารณาตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคตรวจชนิดภูมิคุ้มกัน และเจาะตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองร่วมไขสันหลัง เพื่อยืนยันและวินิจฉัยแยกโรค เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรค VKH จะได้รับการรักษาด้วยยาปรับภูมิคุ้มกัน และติดตามภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคต่อไป
อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น อาจจะเกิดจากโรคในระบบประสาทอื่น ๆ ได้ ความสำคัญคือ ควรเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะโรคทางระบบประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทการมองเห็น การรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ กลับมามองเห็นได้ดีเหมือนเดิม ลดอัตราความพิการทางการมองเห็นได้ และหากความผิดปกตินั้นเกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนอื่น ๆ ก็จะช่วยให้หายดีมากขึ้น ลดอัตราการเกิดความพิการหรือทุพลภาพให้น้อยลง
- 99 views