ตามที่มีการนำเสนอข่าวปู่ย่าในจ.ภูเก็ต ร้องเรียนว่าหลานชาย วัย 12 ปี ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มจนตาบอดและผ่านมา 5 เดือนแล้วยังไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใดนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค. นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามข้อเท็จจริง ก่อนมีการแถลงชี้แจงจากทีมแพทย์ว่าจากผลการวินิจฉัยโรคเป็นอาการของโรคไซนัสอักเสบฉับพลัน
พญ.ณัฐวรรณ เทพณรงค์ นายแพทย์ชำนาญการ กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เปิดเผยข้อมูลว่า ด.ช.นนทพัท แซ่อ๋อง อายุ 12 ปี มีประวัติการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 ( 10 วันก่อนมาโรงพยาบาล) ก่อนเข้ารับการรักษาที่รพ.วชิระภูเก็ต วันที่ 6- 10 ม.ค. 2565 โดยคณะแพทย์ได้ทำการรักษาและร่วมทำการวินิจฉัยโรคว่าเป็นอาการของโรค ไซนัสอักเสบฉับพลันทุกไซนัส (Acute pansinusitis) จากเชื้อแบคทีเรีย สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) บริเวณเบ้าตาอักเสบและมีฝีหนองในเบ้าตาด้านขวา (Orbital cellulitis with retrobulbar abscess right eye) จากเชื้อแบคทีเรีย สแตปฟีโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) มีอาการเยื่อหุ้มสมอง และเนื้อสมองอักเสบ (Meningoencephalitis) จากเชื้อแบคทีเรีย สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) พบกระดูกรอบ ๆ โพรงไซนัส และกระดูกรอบเบ้าตาอักเสบ (Osteomyelitis of orbital bone) และ ภาวะอุดตันของแอ่งเลือดดำบริเวณฐานกะโหลก (Cavernous sinus thrombosis)
ทั้งนี้นพ.คงกฤช กาญจนไพศิษฐ์ แพทย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ยืนยันว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กชายตาบอด เกิดจากโรคไซนัสเฉียบพลัน โดยการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส หลังผลการยืนยันจากการตรวจของการนำเชื้อจากเบ้าตา ฐานกะโหลก และไขสันหลังไปตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เหมือนกัน
ขณะที่พญ.ปรารถนา ตุลยกนิษก์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาและการฟื้นฟูว่า ทางโรงพยาบาลได้มีการนัดติดตามอาการและให้คำแนะนำแนวทางในการดูแลผู้ป่วยพร้อมทำกายภาพบำบัดอยางต่อเนื่อง เพื่อฝีกการเดิน นั่ง เคลื่อนไหวรวมทั้งการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน และวางแผนส่งตัวพบผู้เชี่ยวชาญ Low Vision clinic ที่แผนกจักษุ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้เข้าอบรม แนวทางในการดูแลตนเอง การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ วางแผนด้านการศึกษา รวมไปถึงการงานและพื้นฐานอาชีพในอนาคต รวมถึงการติดตามอาการทางระบบประสาทและเรื่องไซนัสอักเสบเพื่อการรักษาอย่างดีที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตกล่าวว่าจากการประชุมของทีมแพทย์และคณะกรรมการวินิจฉัยผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมีข้อสรุปยืนยันตรงกันว่าเด็กมีอาการตาบอดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนและการป่วยของน้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเท่านั้นไม่ได้เกิดจากการฉีดวัคซีนที่ทำให้ป่วย
“ในฐานะผู้บริหารจัดการการฉีดวัคซีนในภาพรวม ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าการฉีดวัคซีนอาจจะมีผลข้างเคียงหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์บ้าง ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เช่น จะมีไข้อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้บ้าง ในส่วนของเด็กอาการที่น่าเป็นห่วงคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยอุบัติการณ์ของการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบในเด็กภายหลังการฉีดวัคซีนของไทย เกิดน้อยกว่าต่างประเทศ โดยต่างประเทศพบ 150 คนใน 1 ล้านคน ที่ฉีดวัคซีน ส่วนในประเทศไทย พบเพียง 10 ราย จากสถิติการฉีดจำนวน 3 ล้านคน โดยทั้ง 10 รายรักษาหายเป็นปกติ จึงอยากให้เชื่อมั่นว่าการได้รับวัคซีนจะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 อยากจะให้ทุกคนมาฉีดวัคซีน จะช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดอัตราการป่วยหนัก ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 98-99”
ด้านลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์สำหรับครอบครัวที่ได้รับความลำบากและจดทะเบียนเป็นผู้พิการ เพื่อรับเงิน 1,000 บาทต่อเดือนและจะเข้าสู่กองทุนคุ้มครองเด็ก ซึ่งจะได้รับเงินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล รวมทั้งส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ปกครอง ส่วนเรื่องการศึกษาจะหาสถานที่เรียนที่เหมาะสมให้ต่อไป
- 897 views