กรมสุขภาพจิตร่วมไว้อาลัยแก่การจากไปของอาสาสมัครกู้ภัย ที่ร่วมปฎิบัติงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ผู้ให้ความช่วยเหลือพร้อมชี้แนวทางในการดูแลจิตใจโดยใช้หลักการ S H O E S
เมื่อวันที่ 15 กันยายน กรมสุขภาพจิตขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมไว้อาลัย จากการเสียชีวิตของทีมอาสาสมัครกู้ภัยเหตุอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ชี้การให้กำลังใจกันและดูแลตนเองเป็นเรื่องสำคัญ แนะนำแนวทางในการดูแลจิตใจตนเองของผู้ให้การช่วยเหลือพร้อมเน้นย้ำแนวทางการเสริมสร้างกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วยหลักการ S H O E S
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขณะนี้ทุกภาคส่วนได้ระดมกำลังเข้าในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือในทุกมิติ ซึ่งก่อนอื่นต้องขอขอบคุณความร่วมมือที่เกิดขึ้น และขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของทีมอาสาสมัคร ที่ได้เสียชีวิตในช่วงที่ลงมาเป็นทีมอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดเชียงราย ซึ่งอย่างไรก็ดีจากการเกิดอุทกภัยครั้งนี้สร้างความสูญเสียให้กับประชาชนทั้งในมิติของเศรษฐกิจที่อยู่อาศัยทรัพย์สินจนไปถึงสภาพจิตใจอย่างมากจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต้องรีบดำเนินการ และเร่งมือในการให้ความช่วยเหลือ
นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่ออีก การดำเนินงานในครั้งนี้พบว่าความเหนื่อยและความอ่อนล้าจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยติดต่อกันต่อเนื่องยาวนานเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต เป็นสิ่งสำคัญที่ทางกรมสุขภาพจิตให้ความสนใจ และอยากเน้นย้ำให้ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือหรือเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนหันกลับมาดูแลสภาพจิตใจของตนเองตามแนวทางของผู้ให้การช่วยเหลือซึ่งประกอบด้วย
1. การหาข้อมูลที่จะช่วยให้ตัวเองทำงานได้อย่างปลอดภัย
2. ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานแต่ละวัน
3. จัดสรรเวลาในการพักผ่อน และจัดลำดับความสำคัญของการทำงานต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
4. แบ่งปันประสบการณ์ทางด้านดีหรือสิ่งที่เป็นช่องว่างเพื่อให้ผู้ที่ปฏิบัติงานร่วมกันได้ให้กำลังใจและร่วมให้ความคิดเห็น
5. ให้ความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกลำบากไม่อายหรือเกรงกลัวที่จะขอความช่วยเหลือ
6. มีความหวัง และนึกถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน
7. อดทนขอบคุณ และให้กำลังใจกับผู้ที่ปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งการเกิดเหตุในพื้นที่ครั้งนี้ผู้ให้ความช่วยเหลือหลายคนเป็นผู้ประสบภัยร่วมด้วย
ดังนั้นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างแรก คือการตั้งสติ พร้อมทั้งพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิบัติงาน หรือการดูแลสมาชิกในครอบครัวของตนเอง รวมไปถึงมอบหมายการช่วยเหลือหรือการบริหารจัดการให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง และหากมีความเครียดไม่สามารถที่จะวางแผนเรื่องอื่นๆ ได้ให้หาที่ปรึกษาเพื่อระบายหรือปรับทุกข์หรือใช้การให้บริการของสายด่วนสุขภาพ 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
ว่าที่ร้อยโทโฆษิต กัลยา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมเสริมพลังใจ ทีมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิต ในศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย พบว่า ทุกฝ่ายยังคงปฏิบัติงานกันอย่างเข้มแข็ง และมีกำลังใจจากการช่วยเหลือของทุกภาคส่วนซึ่งตอนนี้ดำเนินการคือการลำเลียงและส่งมอบถุงยังชีพ ให้กับประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งทีมเครือข่ายเยียวยาจิตใจได้มีการเน้นย้ำในเรื่องของการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ตามหลักการ S H O E S ซึ่งประกอบด้วย
1. Supportive relationships สนับสนุนสัมพันธภาพที่ดี ระหว่างบุคคลใกล้ชิด ผู้ร่วมงาน เพื่อน
2. Healthy coping strategies ใช้ชีวิตให้ปกติเท่าที่ทำได้ ได้แก่ จัดสรรเวลาพักผ่อนนอนหลับให้พอ กินอาหารที่มีประโยชน์ดูแลความสะอาดและอนามัยของตนเอง
3. Optimism มองโลกในแง่ดี มีความเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
4. Emotional awareness ใส่ใจสำรวจอารมณ์และจิตใจของตนเอง หาโอกาสปรับทุกข์กับบุคคลใกล้ชิด ที่เราไว้วางใจได้
5. Skill for living ดูแลและใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง
กรมสุขภาพจิตเชื่อว่าสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่จะทำให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนไทย และ
สิ่งที่ผู้ให้การช่วยเหลือต้องการเห็นมากที่สุดไม่ใช่เพียงแค่การทำให้สถานการณ์ทุกอย่างบรรเทาลงเพียงอย่างเดียว แต่เห็นพี่น้องคนไทยร่วมใจกันพร้อมที่จะฮึดสู้และเข้มแข็งผ่านวิกฤตินี้ต่อไปด้วยกัน
- 193 views