ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เล็งปรับ “เขตสุขภาพ” กระจายอำนาจผู้ตรวจฯ บริหารจัดการในพื้นที่คล่องตัวขึ้น ลดอำนาจส่วนกลาง  ด้าน รมว.สธ. เตรียมผลักดันร่างพ.ร.บ.โรคเอ็นซีดี  เน้นส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพดี  เคลื่อนร่างกฎหมายแยก สธ.ออกจาก ก.พ.  ฝากนายแพทย์สาธารณสุขผลักดัน คลินิกหมอครอบครัว (PCC)  ครบทุกจังหวัดในปี 2568   และตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกครบทุกจังหวัด และศูนย์เรียนรู้สาธารณสุขชายแดน

 

สาธารณสุขยุคดิจิทัล สู่ยุคควอนตัมในอนาคต

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการปิดประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี2567 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2567 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา  ว่า ผลงานวิชาการที่เรานำเสนอร่วมกัน เมื่อดูจากแนวคิดการจัดงานประชุมวิชาการปีนี้ คือ การจัดการสุขภาพอย่างยั่งยืน และการบริการสุขภาพในยุคดิจิทัล หลายคนทำงานมาหลายสิบปี สังเกตเห็นได้ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคงเป็นไปตามยุคสมัย เมื่อก่อนเราอยู่ในยุคก่อนอนาล็อก ต่อมาคือยุคอนาล็อก และตอนนี้ก็เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งตนคิดว่าระบบสุขภาพของเราเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัวแล้ว

ส่วนอนาคตตนก็เชื่อว่าเราจะเข้าสู่ยุคควอนตัม แต่ถ้าเราอยู่ในยุคดิจิทัลแล้วยังคิดแบบอนาล็อก ก็คงไปไม่รอด ความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขคือสิ่งจำเป็น ซึ่งความยั่งยืนก็คือ ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ตนดีใจที่ระบบสาธารณสุขของไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว และจะเกิดความยั่งยืนถ้าเรานำความรู้ ประสบการณ์มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ ถ้าเราคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ก็จะได้แบบเดิม ดังนั้นเราต้องคิดไปข้างหน้า ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ และนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน

ปี 68 สธ.นำโจทย์รัฐบาลเดินหน้า 4 เรื่อง

จากการแถลงนโยบายรัฐบาล มีประเด็นสำคัญที่จะนำมาเป็นโจทย์ในการทำงานปี  2568 ได้แก่ เรื่องที่ 1 ยาเสพติดและสุขภาพจิต  เรื่องที่ 2 การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเป้าหมายของเราคือ เมื่อสิ้นปีปฏิทิน 2568 ระบบดิจิทัลฮอสพิทอล และการเชื่อมโยงจะครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขกันเอง ส่วนหน่วยงานภายนอกก็มีปัจจัยหลายอย่างและขึ้นกับความพร้อมของแต่ละแห่ง แต่ตนเชื่อระบบของเราจะเป็นระบบที่เข้มแข็งและระบบที่ใหญ่ นั่นหมายความว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเข้าสู่ระบบดิจิทัลแล้ว อย่างต่ำ 60-70%

เรื่องที่ 3 คือ เมดิคับฮับ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องใหม่ ที่เราต้องเร่งขยับวางพื้นฐานไว้ เรื่องนี้คงไม่สามารถสำเร็จด้วยกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียวกัน แต่เราจะเป็นจุดที่นำนโยบายรัฐบาลมาปฏิบัติในส่วนกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในปีต่อไป

รมว.สธ.ดัน พ.ร.บ.โรคเอ็นซีดี  

และเรื่อง 4 การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญมาก และเป็นไฮไลท์ ที่ผ่านมามีการดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับ อสม. รพ.สต. รพ.ชุมชน  รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป แต่สิ่งที่เราขาดในขณะนี้ คือ ทำอย่างไรที่จะบูรณาการงานเอ็นซีดี (NCDs) ให้เป็นเนื้อเดียวกัน

“ท่านรมว.สมศักดิ์ ได้ให้นโยบายมาว่า เราอาจจะต้องผลักดันให้มี พ.ร.บ.เอ็นซีดี ขึ้นมา พ.ร.บ.นี้ ไม่ได้มีไว้บังคับคนออกกำลังกาย เพราะยาก หรือบังคับคนกิน แต่เป็น พ.ร.บ.ที่ส่งเสริมให้คนไทย มีพฤติกรรมสุขภาพที่เอื้อต่อการป้องกันการเกิดโรค NCDs  ซึ่งจะเป็นไฮไลท์ของกระทรวงต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

ฝาก นพ.สสจ.ผลักดัน PCC ครบทุกจังหวัดในปี 2568 

ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องสานต่อ คือ  ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกให้ครบทุกจังหวัด รวมทั้งจัดระบบวิจัยทางคลินิก และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ขณะนี้มีแม่สอด ตาก แต่ตามแผนจะจัดให้ครบ เช่น ระนอง แม่ฮ่องสอน สระแก้ว หนองคาย เป็นต้น และต้องเดินหน้าคลินิกหมอครอบครัว หรือ Primary Care Cluster  (PCC)  ให้ครบ 6.5 แห่ง ตามพ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ขณะนี้มี 4 พันแห่ง ยังขาดอีก 2 พันแห่ง ต้องฝากโจทย์นี้ไปยัง นพ.สสจ. แต่ละจังหวัด หากผลักดัน PCC จนครบ ก็จะหมายความว่าปีหน้าระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะครอบคลุมเต็มพื้นที่ และงานต่างๆจะลงไป ทั้ง ควบคุมป้องกันโรคเอ็นซีดี งานป้องกันยาเสพติด แก้ปัญหาสุขภาพจิต ก็จะผนวกรวมกัน ทำให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ปี 2568 ต้องผลักดัน PCC ให้ครบ รวมไปถึงงานโรงพยาบาลทันตกรรม ก็ยังต้องขับเคลื่อนต่อไป

เดินหน้า ร่างพ.ร.บ.ก.สธ.  พร้อมปรับโครงสร้าง สสจ.  

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า รวมถึงการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ก.สธ. เป็นเรื่องที่ รมว.สธ.ให้ความสำคัญ ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขไทยต่อยอดไปข้างหน้าได้อย่างจริงจัง รวมถึงการปรับโครงสร้าง สสจ. โดยจะมีการนำร่อง 12 แห่ง และผลักดันให้เขตสุขภาพให้เป็นกรมในระดับภูมิภาค ซึ่งทุกเรื่องต้องอาศัยคน งบประมาณ กฎหมาย ดังนั้นการสร้างเครือข่ายบูรณาการกับทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ในส่วนของเขตสุขภาพ มีผู้ตรวจราชการกระทรวง เหมือนเป็นปลัดอยู่ในเขตนั้น สามารถบูรณาการ เรื่องคน เรื่องเครือข่ายทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความเข้มแข็ง  ต่อไปจะปรับเขตสุขภาพให้คล้ายๆกรม  คล้ายๆผู้ตรวจขยับเป็นอธิบดี ซึ่งจริงๆตอนนี้ก็บริหารสูงอยู่แล้ว โดยจะทำยังไงให้ส่วนกลางอำนาจลดลง ไปเพิ่มความเข็มแข็งในส่วนภูมิภาค เป็นการบริหารทรัพยากรให้พวกเขา แต่ละบริบทแตกต่างกันไป  ทั้งหมดจะทำประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่ามารวมศูนย์ที่ส่วนกลาง” นพ.โอภาส กล่าว