ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยงานสังกัด สธ. -สสส.-สปสช.สรุปผลงานปี 67 ขานรับนโยบายปี 68  "2 รมต" เพิ่มเข้าถึงบริการ ประชาชนสุขภาพดี เน้นยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่  สนับสนุนบุคลากรทำงานมีความสุข ค่าตอบแทน คุณภาพชีวิตดี

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่หอประชุมอัจฉรา สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมนำเสนอผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในทุกนโยบายดี ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกิจกรรมดี ๆ ของทุกกรม ทุกหน่วยงาน ในแง่ของการนำสู่ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้งหมด 76 จังหวัด ทั้งยังมีโรงพยาบาลศูนย์ 35 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 97 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 771 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,781 แห่ง 

ภาพรวมการรักษาพยาบาล คิดเป็นการดูแลประชาชนร้อยละ 70 ของทั้งหมด โดยสถานบริการที่มีเตียงรับไว้ค้างคืนแยกตามประเภท/สังกัด 1,401 แห่ง 171,359 เตียง ส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมดกว่า 4 แสนคน เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ถึงมีน้อยกว่าในหลายประเทศ แต่ผลงานไม่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในแง่ของการมีทรัพยากร ใช้งบประมาณในการดูแลประชาชน เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว มีงบประมาณค่อนข้างน้อย เทียบได้ 4% ของจีดีพีทั้งหมด จะเห็นได้ว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับมีความมุ่งมั่น การบริการไม่น้อยกว่าใคร

สำหรับปี 2567 และปี 2568 เรามีนโยบายมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบบริการ 

1. ปรับภูมิทัศน์ของโรงพยาบาลให้ทันสมัย สวยงาม 
2. เสริมบริการ ส่งเสริมการให้บริการด้วยหัวใจ Care D สื่อสารด้วยความเข้าอกเข้าใจ เข้าถึงจิตใจผู้รับบริการ
3. เพิ่มศักยภาพการให้บริการด้วยเครื่องมือที่ดีขึ้น เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ สู่โรงพยาบาลอำเภอที่มีขนาดเล็ก
4. สนับสนุนบุคลากรให้ทำงานอย่างมีความสุข มีค่าตอบแทน มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้เกิดบริการที่ดีกับประชาชน 

ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ประชาชนเข้าถึงบริการแล้ว 45 จังหวัด และในเดือนธันวาคม 2567 จะให้บริการครบทุกจังหวัด 

การพัฒนาโรงพยาบาลเป็น Smart Hospital 902 แห่ง

หน่วยบริการมีระบบความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูลสุขภาพระดับสูง 122 แห่ง

ในปี 2568 เตรียมนำนโยบายของ รมว.สธ. เช่น นโยบาย เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทยก่อนไปหาหมอ โดยจัดทำคู่มือมาตรฐานการรักษาพยาบาล สนับสนุนการใช้ยาและบัญชียาสมุนไพรแพทย์แผนไทย 27 รายการ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ยาไพล ยาประคบ ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม รวมทั้งโรงพยาบาลทันตกรรม 119 แห่ง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงทันตกรรมของประชาชน

ผลความสำเร็จของเรา เช่น การเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน และการมีสุขภาวะที่ดี และได้รับรางวัลนานาชาติและรางวัลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

กรมการแพทย์

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมา สามารถตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 1.7 ล้านราย อีกทั้งรักษากลุ่มชีวิตกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงถึง 70,000 ราย ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม 25,000 ราย โดยตรวจพบมะเร็งในระยะแรก 500 ราย อีกทั้งออกแบบชุดสิทธิประโยชน์ให้ผู้หญิงไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งมีญาติสายตรงมีประวัติโรคมะเร็งจะเข้าสู่การตรวจคัดกรอง รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ ตรวจเลือดแฝงได้กว่า 5,000,000 ราย พบความผิดปกติและนำไปส่องกล้องลำไส้ 80,000 ราย

กรมควบคุมโรค

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ดำเนินงานเรื่องการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ตามนโยบายของ รมว.สธ. เนื่องจากไวรัสตับอักเสบเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ ในแต่ละปีพบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ 22,000 ราย ร้อยละ 70 เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยมะเร็งตับเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ปีที่แล้วมีการตรวจคัดกรอง 2,400,000 คน พบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี 60,000 คน และไวรัสตับอักเสบซี 20,000 คน ทั้ง 80,000 คน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะเกิดเป็นโรคตับแข็งต่อไป

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 ในทุกมิติ ตั้งแต่การเกิดของเด็กไทย ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอัตราการเกิดลดลง ดังนั้นต้องดูแลทารกแรกเกิดอย่างดีที่สุด โดยทารกแรกเกิดจะต้องได้รับการตรวจภาวะพร่องโฮโมนไทรอยด์ โรคทางพันธุกรรมที่หายาก เพื่อรักษาได้ทัน เป้าหมายหลัก คือ “ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ผลการรักษาดี สติปัญญาดี” เพื่อให้เด็กไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต สำหรับการคัดกรองในสตรีตั้งครรภ์ จะมีการคัดกรองโรคดาวน์ซินโดรม โรคธาลัสซีเมีย รวมถึงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีไทยเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันโรค    

กรมสุขภาพจิต

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องจิตเวชเข้ามา โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ตั้งแต่ปี 2564-2567 มีมากขึ้นถึง 3 เท่า และพบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษา 2,7000,000 คน ที่มีอาการรุนแรง ร้อยละ 20 เป็นผู้ป่วยยาเสพติด จากข่าวพบว่า ผู้ก่อเหตุความรุนแรงมักมีปัญหาจิตเวชและยาเสพติด แต่มีเพียงร้อยละ 20 ที่เข้ารับการรักษาได้ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่สำคัญ จึงต้องส่งเสริมป้องกัน สร้างเสริมกำลังใจเข้มแข็ง เพิ่มการเข้าไปรับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรง 

กรมอนามัย

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดำเนินงานในปี 2567 ใช้หลักกลยุทธ์ PIRAB เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินการตามบทบาทภารกิจกรมอนามัย ในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ สร้างการมีส่วนร่วมและสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมขับเคลื่อน “การส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ” ผลักดันโครงการมหัศจรรย์ 2500 วัน ตามเป้าประสงค์เพื่อลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กไทยสุขภาพดี 

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร การสร้างงานสร้างอาชีพ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 แสนล้านในปี 2570 อีกนโยบาย คือ เจ็บป่วยคราใดนึกถึงยาไทยก่อนไปหาหมอ จึงได้แบ่งงานเป็น 2 ส่วน 1. การบริการการแพทย์แผนไทย 2. การนวดไทย ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า นโยบายที่สำคัญ คือ 30 บาทรักษาทุกที่ ร้านยาคุณภาพที่อยู่ในทุกจังหวัด และโครงการพาหมอไปหาประชาชน นอกจากนี้ ยังอนุมัติขั้นตอนผู้ประกอบการให้เข้ามาขอคำอนุญาตได้อย่างรวดเร็ว ยกเลิกการเรียกเอกสาร ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ การส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากหรือวิสาหกิจชุมชน ปีนี้ได้มา 1,796 รายการ ประมาณการรายได้ 2,731 ล้านบาท

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในปี 2567 ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพ อสม.และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาสุขภาพตนเองและชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน สมาร์ท อสม. ส่งเสริมสุขภาพ คัดกรองสุขภาพ มีผลสำเร็จ อสม.รายงานผลได้ 100% คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุกว่า 7.6 ล้านคน หรือร้อยละ 74 พร้อมปักหมุดกลุ่มเปราะบาง โดยพบ 450,000 ราย 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปี 2567 สปสช. ดำเนินการตามนโยบายในการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ โดยได้ร่วมกับสภาวิชาชีพ จัดบริการนวัตกรรมเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ปีที่ผ่านมามีหน่วยนวัตกรรมขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ 9,713 แห่ง ร้านยา 5,307 แห่ง คลินิกทันตกรรม 1,112 แห่ง คลินิกเวชกรรม 656 แห่ง คลิกนิกเทคนิกการแพทย์ 169 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทย 30 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัด 291 แห่ง และคลินิกการพยาบาล 2,872 แห่ง ภาพรวมปีนี้ ลดความแออัด เพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วย 4,270,000 คน และร่วมกับ สธ. เชื่อมระบบการเบิกจ่าย ให้ประชาชนเข้ารับบริการสะดวกยิ่งขึ้น นำร่อง 45 จังหวัดแล้ว

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีมติต่าง ๆ 93 มติ ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และยังมีสิทธิที่กำหนดไว้ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ เช่น สิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ตามมาตรา 12 ทำร่วมกับภาคีเครือข่าย ปีนี้ประชาชนเห็นความสำคัญตรงนี้มากขึ้น อีกทั้งเข้าสู่สังคมสูงวัย และยังมีนโยบายชีวาภิบาล จึงร่วมกับกรมการปกครองทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำได้ทุกที่ทุกเวลา ออกแบบชีวิตในระยะท้ายได้ด้วยตนเอง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. มีภารกิจทำให้คนไทยสุขภาพดี 4 มิติ และตอบสนองปัญหาการเจ็บป่วย เพราะการเจ็บป่วยจากพฤติกรรมสุขภาพ โดยลดปัจจัยเสี่ยงให้ลดน้อยลง มุ่งเน้นจัดากรปัจจัยเสี่ยง เรื่องอาหาร โภชนาการ มุ่งสร้างความตระหนักรู้ ให้ความรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงโรค NCDs โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม ร่วมกับภาคีเครือข่ายเชิงนโยบาย วิชาการ และสื่อสารสังคม

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“สมศักดิ์” ชูปี 68 นโยบายเพื่อบุคลากรเพียบ! ดันกม.โรคNCDs - 'เดชอิศม์' ของบ 100 ล. ผลิตหมอนวดไทย