เริ่มพรุ่งนี้! 3 ก.ย. เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ แค่ยื่น “บัตรประชาชนใบเดียว” ร้านยาที่มีโลโก้ 30 บ.รักษาทุกที่ฟรี! สปสช.เตรียมระบบเบิกจ่ายเงินให้ร้านยากว่า 4 พันแห่งทั่วประเทศในอัตรา 180 บ./ครั้ง ด้านผู้ช่วยเลขาฯ ย้ำเภสัชฯ จ่ายแค่ยาเบื้องต้น ไม่มีการวินิจฉัยโรค หลังถูกแพทย์บางส่วนมองไม่ใช่หน้าที่ ยืนยันดำเนินการตามกรอบวิชาชีพ เชื่อผู้ป่วยไม่แห่ไปร้านยา เหตุไม่มีใครอยากกินยา ถ้าไม่ป่วย
ตามที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการ “ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่ กทม.” โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยนวัตกรรมต่างๆของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่มีโลโก้ “30 บาทรักษาทุกที่” โดยสปสช. ได้ขยายขอบเขตการให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illnesses) ของร้านยาคุณภาพ ให้จ่ายยาตามกลุ่มอาการเพิ่มขึ้นเป็น 32 กลุ่มอาการ จากเดิม 16 กลุ่มอาการ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 เป็นต้นไปนั้น
ขยายกลุ่มเจ็บป่วยเล็กน้อยจาก 16 เป็น 32 อาการ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง Hfocus มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ในร้านยาคุณภาพที่ร่วมโครงการกับ สปสช. โดยจะจ่ายยาใน 16 กลุ่มอาการ แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 32 กลุ่มอาการ เริ่มใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 เป็นต้นไป รวมพื้นที่ กทม.ครอบคลุม 30 บาทรักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ และต้องมีโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่
ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า เดิมทีผู้ป่วยบัตรทอง เข้ารับบริการหน่วยบริการปฐมภูมิก่อน อย่างต่างจังหวัด เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) อย่าง กทม. ก็จะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น แต่หากมีอาการมากขึ้น จะส่งต่อไปยังสถานบริการขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้จะเน้นอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องไปรพ. หรือคลินิก แต่สามารถแจ้งอาการกับเภสัชกร หากเข้าข่าย 32 กลุ่มอาการสามารถรับยาได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) แล้ว
ร้านยาต้องติดตามอาการผู้ป่วย 3-5วัน
ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ 32 กลุ่มอาการจะเน้นการดูแลอาการเบื้องต้น ยกตัวอย่าง มีน้ำมูก คัดจมูก มีแผลในปาก ตุ่มน้ำใสที่ปาก แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ ฝี หนองที่ผิวหนัง มีอาการชา เป็นต้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น เภสัชกรจะมีคำแนะนำให้พบแพทย์ ทั้งจากคลินิก และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่อไป อย่างไรก็ตาม สภาเภสัชกรรม ได้ทำมาตรฐานในการดูแลให้กับเภสัชกรประจำร้านยา
“การกำหนดการดูแล 32 อาการเบื้องต้นก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ไปขอยาเภสัชกรอย่างเดียว หากท่านใดเจ็บป่วย แต่อยู่นอกเหนือ 32 อาการ ให้ไปพบแพทย์ที่คลินิกชุมชนอบอุ่นในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ แต่หากเจ็บป่วยเล็กน้อยและอยู่หนึ่งใน 32 อาการสามารถรับบริการร้านยา ที่มีโลโก้ได้ทุกที่ทั่วประเทศ” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าว
ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวอีกว่า การดึงร้านยาเข้าร่วมโครงการ เรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่ทาง สปสช.ดำเนินการให้ แต่เรามีเงื่อนไขกับร้านยาที่เข้าร่วม โดยเภสัชกรที่จ่ายยาพร้อมให้คำแนะนำไปแล้ว จะต้องมีการโทรติดตาม หรือไลน์ติดตามอาการผู้ป่วยภายใน 3-5 วัน เพื่อให้ทราบว่าอาการดีขึ้น หรือถ้าแย่ลงก็จะแนะนำตามความเหมาะสม
เมื่อถามว่าปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมโครงการจำนวนเท่าไหร่ และร้านยาขององค์การเภสัชกรรมเข้าร่วมหรือไม่ ผู้ช่วยเลขาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านยาเข้าร่วมโครงการมากกว่า 4,000 แห่งทั้งประเทศ โดยในกรุงเทพมหานครมีประมาณ 400 กว่าร้านยา ทั้งนี้ สปสช.เปิดรับสมัครร้านยาที่จะเข้าร่วมโครงการทุกที่ รวมถึงร้านยาคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เข้าร่วม ยกตัวอย่าง ร้านโอสถศาลา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิ่งสำคัญขอให้สังเกต
อย่ากังวลแพทย์ห่วงเภสัชฯวินิจฉัยโรค
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มีแพทย์บางกลุ่ม ตั้งคำถามความเหมาะสมในการวินิจฉัยอาการและจ่ายยาของเภสัชกร จากเดิม 16 อาการเป็น 32 อาการว่า ไม่ใช่หน้าที่ของวิชาชีพเภสัชฯหรือไม่ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ทุกวิชาชีพ รวมถึงเภสัชกร มีพ.ร.บ.วิชาชีพของตนเอง ซึ่งการดำเนินการใดๆ ย่อมต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ฯ เป็นไปตามกติกาอยู่แล้ว และเภสัชกรไม่ได้ทำอะไรที่เกินหน้าที่ ก่อนจะจ่ายยา ย่อมต้องใช้ดุลยพินิจพอสมควร
ขั้นตอนใช้บริการง่ายๆของประชาชน
ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่เข้ารับบริการร้านยานั้น เมื่อนำบัตรประชาชนมา ทางเภสัชกรจะนำบัตรไปเสียบเครื่องอ่าน เพื่อพิสูจน์ตัวตนก่อนเข้ารับบริการว่า เป็นประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เอาเลข 13 หลักไปเบิกจ่ายได้ง่ายๆ โดยเมื่อเข้ารับบริการแล้ว ทางเภสัชกรก็จะปิดระบบ เรียกว่า เรามีระบบเปิดและปิด พิสูจน์ตัวตนชัดเจน จากนั้นข้อมูลจะไหลเข้ามา สปสช. เมื่อตรวจสอบแล้วก็จะเบิกจ่ายเงินให้กับร้านยา
สปสช.จัดสรรเงินหน่วยนวัตกรรม “ร้านยา” 180 บาทต่อครั้ง
ถามอีกว่าปัจจุบันสปสช.จ่ายร้านยาที่ร่วมโครงการเท่าไหร่ ผู้ช่วยเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันสปสช.จ่ายเงินให้ร้านยาคิดเป็น 180 บาทต่อครั้งที่มารับบริการ (pay per visit) ภายใต้เงื่อนไข คือ เภสัชกรต้องมีการซักประวัติ ให้คำแนะนำพร้อมจ่ายยา และต้องติดตามอาการภายหลังจ่ายยา 3 วัน ไม่เกิน 5 วัน ซึ่งในเรื่องการเบิกจ่ายเงินให้ร้านยานั้น สปสช.จะมีการประมวลผลหลังให้บริการทุก 3 วัน แต่กำลังจะจัดระบบเบิกจ่ายใหม่เป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจเป็นทุกวันจันทร์ และวันพฤหัสบดี
ไม่กังวลคนขอยาพาราฯ เพราะต้องผ่านการคัดกรองจากเภสัชฯก่อน
ถามอีกว่าสปสช.เตรียมพร้อมหรือไม่ หากประชาชนจะแห่ไปรับบริการร้านยา เช่น ขอยาแก้ปวด ยาพาราเซตามอล ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า เภสัชกรไม่ได้จ่ายตามความต้องการของผู้ป่วย แต่จ่ายยาตาม 32 อาการตามจริง โดยผู้ป่วยต้องมีอาการชัดเจน ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า ถ้าไม่เจ็บป่วย คนไม่อยากกินยาอยู่แล้ว
คนจะไปโรงพยาบาล หากไม่ป่วย เขาย่อมไม่อยากไป รวมถึงร้านยาก็เช่นกัน อย่าง หากจะเดินเข้าไปร้านยา เพื่อขอยาพาราเซตามอล ไม่สามารถทำได้ หากไม่มีอาการบ่งชี้จริงๆ เพราะเภสัชกรต้องซักถามอาการอยู่แล้ว
“ขอย้ำว่า การจัดการบริการดังกล่าว มุ่งเน้นการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งหากท่านป่วยจริงสามารถเข้ารับบริการร้านยาคุณภาพใกล้บ้านได้ และให้สังเกตโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ แต่ขอฝากว่า หากไม่มีอาการ ไม่ได้เจ็บป่วย ขอความกรุณาอย่าไปเก็บยาไว้ที่บ้าน เพราะไม่ก่อประโยชน์ อย่างการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง อาการก็อาจไม่เหมือนเดิม การใช้ยาก็จะแตกต่างกัน เพื่อให้เฉพาะเจาะจงสอดคล้องกับอาการที่เป็นในรอบนั้นๆ” ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
32 กลุ่มอาการ มีอะไรบ้าง
ทั้งนี้ 32 กลุ่มอาการที่ร้านยา สามารถให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เป็นไปตามแนวทาง และมาตรฐานการให้บริการทางเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรมนั้น ประกอบด้วย
1.เวียนศีรษะ 2.ปวดหัว 3.ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4.ปวดฟัน 5.ปวดประจำเดือน 6.ปวดท้อง 7.ท้องเสีย 8.ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 9.ปัสสาวะแสบขัด 10.ตกขาว
11.แผล 12.ผื่นผิวหนัง 13.อาการทางตา 14.อาการทางหู 15.ไข้ ไอ เจ็บคอ 16.ติดเชื้อโควิด 17.น้ำมูก คัดจมูก 18.มีแผลในปาก 19.ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20.แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง
21.อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22.อาการจากพยาธิ 23.อาการจากหิด เหา 24.ฝี หนองที่ผิวหนัง 25.อาการชา/เหน็บชา 26.อาการนอนไม่หลับ 27.เมารถ เมาเรือ 28.เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29.คลื่นไส้ อาเจียน 30.อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31.อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32.เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก
- 5973 views