รมว. สธ. สรุปยอด 1 สัปดาห์ผู้ได้รับผลจากเมทานอลในสุราเถื่อน รวม 43 ราย ผู้เสียชีวิต6 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 27 ราย ย้ำแจ้งเตือน !!! ผู้มีประวัติ ดื่มสุราเถื่อน ยาดอง ในพื้นที่ 18 แห่ง ของ กทม. หรือจากที่อื่นโปรดสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์เร็วที่สุด
เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 30 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลล่าสุดจากจากการเฝ้าระวังของศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า รพ.นพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ติดตามปัญหาผลกระทบจากสุราปลอมหรือยาดองเถื่อน ที่มีการลักลอบผสมสารเมทานอล สารต้องห้าม จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น
ล่าสุดพบป่วยสะสม(รวมเสียชีวิต) 43 ราย เพิ่มจากวานนี้ 1 ราย โดยเสียชีวิตสะสมยังเท่าเดิมคือ 6 ราย รักษาหายแล้ว 27 ราย ยังมีผู้ป่วยกำลังรักษา 10 ราย ฟอกไตสะสม 23 ราย
ทั้งนี้ ในส่วนที่ยังอยู่รักษาแยกตาม รพ.ต่างๆ คือ รพ.นพรัตนราชธานี 5 ราย อยู่ในระดับรุนแรงสีแดง 3 ราย นอกนั้นสีเขียวและสีเหลือง รพ.เวชการุณย์รัศมิ์จำนวน 1 ราย กลุ่มสีเหลือง รพ.ราชวิถี วิกฤตสีแดง 1 ราย รพ.นวมินทร์9 มี 1 รายกลุ่มอาการสีเขียว รพ.เลิดสิน และรพ.เกษมราษฎร์ รามคำแหง 1 รายอยู่ในวิกฤตสีแดง
โดยข้อมูลทางระบาดวิทยาส่วนใหญ่อาการตามัว รองลงมา หายใจเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นต้น
วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยหลายรายเข้าโรงพยาบาลพร้อมกัน เนื่องจากดื่มสุราเถื่อน โดยศูนย์ปฏิบัติการ ณ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี พบผู้ป่วยเริ่มเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 จนถึงขณะนี้ (วันที่ 30 สิงหาคม 2567) รวม 43 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย รักษาหายและกลับบ้านได้ 27 ราย
ทั้งนี้ นับแต่เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากจากการบริโภคสุราที่มีสารพิษเมทานอลเจือปน จึงได้สั่งการให้กรมการแพทย์ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินส่วนหน้าที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ดำเนินการแก้ปัญหาแบบบูรณาการร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 กรมสรรพสามิต และกรุงเทพมหานคร ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลาม ได้ภายใน 1 สัปดาห์ ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาและรักษาผู้ป่วย ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่ดื่มเหล้าเถื่อนสังเกตอาการซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับ 1 ไม่มีอาการ : คำแนะนำ อยู่บ้านสังเกตอาการ ระดับ 2 มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน : คำแนะนำ สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที ระดับ 3 มีอาการด้านการมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นภาพไม่ชัด การมองเห็นแตกต่างจากเดิม ตาพร่า ตามัว เห็นภาพข่าวจ้า แพ้แสง สับสน มองเห็นสีผิดปกติ หอบ เหนื่อย หายใจเร็ว ชัก เกร็ง
คำแนะนำ รีบเดินทางมาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือโทร.1669 โดยสามารถประเมินอาการพิษจากเมทานอล จากลิ้งค์นี้ได้ https://shorturl.asia/ksFZb หรือโทรปรึกษาอาการได้ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 0-2548-2300 โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 08 2760 0579 โรงพยาบาลรัตนประชารักษ์ 08 9404 1853 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 สายด่วน สปสช. 1330
ศูนย์ปฏิบัติการฯ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้มีรายงานพิกัดซุ้มยาดองอันตราย (จากการสอบสวนขยายผล) จำนวน 18 จุด ดังนี้ พื้นที่เขตมีนบุรี ได้แก่ ซอยสามวา 1 ซอยเสรีไทย 95 ตลาดบางชัน หน้าเคหะรามคำแหง ซุ้มตรงข้าม รร.สุดใจวิทยา พื้นที่เขตหนองจอก ได้แก่ ซอยสุวินทวงศ์ 64 พื้นที่เขตลาดกระบัง ได้แก่ ตลาดบึงใหญ่-บึงบัว ถนนคุ้มเกล้า พื้นที่เขตประเวศ ได้แก่ ซอยอ่อนนุช 70 พื้นที่เขตคันนายาว ได้แก่ ซอยเสรีไทย 38 พื้นที่เขตคลองสามวา ได้แก่ ถนนเจริญพัฒนา (ตลาดกีบหมู) ซอยสุเหร่าคลองหนึ่ง 7 ซอยสุเหร่าคลองหนึ่ง 7 แยก 1 ซอยสุเหร่าคลองหนึ่ง 9 ซอยประชาร่วมใจ 19 ซอยประชาร่วมใจ 43/1 ซอยนิมิตใหม่ 9 ซอยสามวา 11/1 และซอยหทัยราษฎร์ 33
- 219 views