“สมศักดิ์” ลุยตรวจการระบายน้ำสุโขทัย ลั่น เชื่อมือกรมชลประทาน ล่าสุดแม่น้ำยมสายหลักตึงเครียด ขณะเดียวกันสั่งการสธ.ดูแลสุขภาพปชช. แจกยาผู้ประสบภัย จัดทีม MCATT ประเมินสุขภาพจิตประชาชน 4 จังหวัด“ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา” กรมอนามัยแจกส้วมกล่องกระดาษ
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัย ที่บริเวณชุมชนบางแก้ว เขตเทศบาลเมืองสุโขทัย ที่สะพานแยกโตโยต้า มีชาวบ้านออกมาติดตามสถานการณ์น้ำ โดยระดับน้ำยมที่ไหลตัวเมือง พบว่าระดับน้ำเพิ่มระดับสูงเกือบเสมอพนังกั้นน้ำ และบางส่วนได้ดันออกทางท่อและผิวจราจร
วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย น.ส.ประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าส่วนราชการ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัยตั้งแต่ช่วงเช้า
โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่ ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม บ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้รับรายงานสถานการณ์น้ำว่า แนวโน้มน้ำจะมาเพิ่มเรื่อยๆ ส่งผลให้ไม่สามารถลดการระบายน้ำเส้นฝั่งซ้ายได้ เพราะต้องเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า อีก 12 ชั่วโมง น้ำจะถึงอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ เป็นเรื่องของกรมชลประทาน ที่ต้องบริหารว่าจะปล่อยน้ำทางไหนให้เสียหายน้อยที่สุด ซึ่งตนเชื่อมือกรมชลประทาน แต่สิ่งที่จังหวัดสุโขทัย ต้องเตรียมการคือ ทำหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอรับการสนับสนุนถุงยังชีพ เพราะถ้าช้า จะไม่ทันความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ก็ทราบว่า การระบายน้ำสายยม-น่าน ถ้าแล้วเสร็จ จะช่วยแบ่งเบาภาระได้จำนวนมาก ซึ่งกำลังก่อสร้างได้ 40% อีก 60% ยังติดเรื่องที่ดินบ้านเรือนของประชาชน จึงขอให้ฝ่ายปกครอง ช่วยกรมชลประทาน พูดคุยกับประชาชนด้วย เพราะหลังน้ำลด ต้องสร้างให้เสร็จภายใน 1 ปี จะได้ช่วยระบายน้ำในปีหน้าได้
“ขณะนี้ มีการใช้งบประมาณสร้างการระบายน้ำยมทั้ง 2 ฝั่ง ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทแล้ว แต่ถ้าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในขณะนั้นจะใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท และการสร้างการระบายน้ำก็ไม่ต้องทำ แต่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ก็เป็นความยากลำบาก เพราะเราอยู่ใต้น้ำ แต่คนเหนือน้ำ ไม่ยอมให้พื้นที่ ดังนั้น พวกเราก็ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ สส.ไม่ทำอะไรเลย โดยขณะนี้ ก็ลงพื้นที่ต่อเนื่อง แต่ถ้ามีเขื่อนขนาดใหญ่ น้ำก็จะไม่ท่วม ซึ่งเมื่อมีปัญหาการคัดค้าน ผมจึงผลักดันสร้างการระบายน้ำยม ทั้ง 2 ฝั่ง โดยถ้าขณะนี้ ไม่ระบายออก ก็จะเสียหายมากกว่านี้ ซึ่งผมก็ขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันอย่างเต็มที่” รมว.สาธารณสุข กล่าว
จากนั้น นายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ต่อไปยังสะพานคลองน้ำไหล ที่ต้องมีการตัดทางรถไฟสายย่อย เพื่อทำให้การระบายน้ำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ก่อนเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วย ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่วัดคลองวังทอง อำเภอสวรรคโลก ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้นำเรือออกไปรับผู้ป่วยมาจากบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม
โดยนายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตนมาติดตามการระบายน้ำจากแม่น้ำยม ไหลไปแม่น้ำน่าน แต่พบปัญหาการก่อสร้างล้าช้า เนื่องจากคลองยาว 40 กิโลเมตร ซึ่งมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน โดยถ้าทำได้เร็ว โอกาสการระบายน้ำให้ทัน ก็จะสามารถทำได้ และจะช่วยลดความเสียหายในสายหลักแม่น้ำยมได้ด้วย รวมถึงตนมาติดตามจุดที่ต้องตัดทางรถไฟ เพื่อระบายน้ำ พบว่า วันนี้ ระดับน้ำลดลงเล็กน้อย เนื่องจากตลิ่งปลายน้ำพัง จึงทำให้ระดับน้ำลดลง
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ น้ำออกทุ่งนาของประชาชน ซึ่งก็ต้องเร่งเยียวยาต่อไป พร้อมยอมรับว่า วันนี้ แม่น้ำยมสายหลักค่อนข้างตึงเครียด เพราะระดับที่ควบคุมอยู่ 62 รทก. แต่ที่ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม อยู่ที่ 64 รทก. สูงขึ้น 2 เมตร โดยก็จะเป็นปัญหา ถ้าแก้ไม่ได้ ก็จะท่วมตัวเมือง ซึ่งจากนี้ เป็นหน้าที่ของกรมชลประทาน ที่จะบริหารไม่ให้ตัวเมืองเสียหาย ตนก็ขอเป็นกำลังใจให้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์ ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งการดูแลประชาชน การแจกยารักษาโรค รวมทั้งส่งทีมบุคลากรดูแลจิตใจประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ล่าสุดมี MCATT บูรณาการภายใต้เขตสุขภาพที่ 1 ได้ลงพื้นที่ประเมินสุขภาพจิตประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำท่วม 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา วางแผนติดตามดูแลจิตใจผู้ประสบภัยแล้ว ขณะที่สถาบันโรคผิวหนังพร้อมสนับสนุนยารักษาเชื้อรา น้ำกัดเท้าแก่ชุมชนเช่นกัน
ส่วนกรมอนามัย จัดส่งวัสดุอุปกรณ์ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคและชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดการสิ่งปฏิกูล ได้แก่ ชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดดูแลสุขอนามัย (Sanitation tool kit) ส้วมกล่องกระดาษ รวมทั้งยาสามัญประจำบ้านสำหรับประชาชนที่ประสบภัย
- 166 views