ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์มะเร็งภูเก็ต รพ.กรุงเทพสิริโรจน์ ร่วมนโยบายโรคมะเร็งไปที่ไหนก็ได้ ให้ “บริการรังสีรักษา” ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และมีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือ “การจัดบริการรังสีรักษาของศูนย์มะเร็งภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์” ร่วมกับ นพ.นรินทร์ บุญจงเจริญ ประธานคณะผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กลุ่ม 6 และ นพ.พิริยะ อธิสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ โดยมี ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร สปสช. ร่วมงานแถลงข่าว

นพ.นรินทร์ กล่าวว่า ศูนย์มะเร็งภูเก็ต ของโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ หลังดำเนินการก่อสร้างมากว่า 1 ปี ขณะนี้ทุกอย่างพร้อมให้บริการแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนขออนุมัติจากหน่วยราชการต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลเท่านั้น โดยเชื่อว่าศูนย์มะเร็งแห่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับพี่น้องประชาชนในเขตภาคใต้ตอนบน และเขตอันดามันอย่างมาก เนื่องจากการเข้าถึงบริการรังสีรักษาในเขตสุขภาพที่ 11 ตามสถิตินับว่าน้อยที่สุดในประเทศ ซึ่งเกิดจากความยากลำบากในการเดินทาง

โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์จึงต้องการทำให้เกิดการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยมะเร็งทุกคนทุกสิทธิการรักษา รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งการได้ร่วมเป็นเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองให้สามารถเข้ารักษามะเร็งที่ไหนก็ได้ (Cancer Anywhere) และการให้ความสำคัญของการดูประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นสิ่งที่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และทางผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลยินดีที่จะดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ นพ.พิริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์จะเป็นโรงพยาบาลภาคเอกชน แต่ทางโรงพยาบาลฯ เล็งเห็นว่าการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และต้องการให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่ต้องไปรักษาไกลบ้าน ประกอบกับทางโรงพยาบาลฯ มีศักยภาพที่จะสามารถดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ของ จ.ภูเก็ต ได้ จึงได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการให้บริการรักษามะเร็งกับทุกสิทธิรักษา

ทั้งนี้ สำหรับศักยภาพของทางโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ ในการให้บริการรังสีรักษา หากมองไปที่กระบวนการรักษาที่ผู้ป่วยหนึ่งราย จะต้องได้รับการฉายรังสีรักษาต่อเนื่องกว่า 20 – 35 วัน ทางโรงพยาบาลฯ จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ประมาณ 20 รายต่อเดือน ดังนั้นในแง่ขีดความสามารถแล้ว ยังเพิ่มเติมการรักษาได้ถึง 40 รายต่อเดือน

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการเพิ่มการเข้าถึงการรักษามะเร็งในผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ตามโครงการมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อประชาชนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง อาจต้องประสบกับปัญหาการรอคอยคิวรับบริการในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ซึ่งหากยิ่งรอคอยนานจะยิ่งทำให้มะเร็งลุกลาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อันดามันที่มีความยากลำบากในการเดินทาง ดังนั้นการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการให้เร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยหลังจากนี้โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ป่วยสามารถมารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“วันนี้นอกจากการร่วมแถลงข่าวแล้ว ยังได้มาดูความพร้อมการบริการ ซึ่งพบว่าโรงพยาบาลฯ มีความพร้อมทั้งด้านรังสีรักษาและการให้เคมีบำบัด โดยขณะนี้เหลือเพียงขั้นตอนทางธุรการเข้าร่วมบริการในระบบอีกเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะมีการเร่งดำเนินการต่อไป คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้สามารถให้บริการได้ก่อนวันที่ 1 ก.ย. 2567 นี้” นพ.จเด็จ กล่าว