กรมการแพทย์ เปิดประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการรักษา ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการบริการ ขณะที่อัตราผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่พบพุ่งปีละ 140,000 คน คิดเป็น 400 คนต่อวัน ด้านอธิบดีฯ เล็งนำงบลงทุนเข้าไปในพื้นที่ หวังขยายการรักษาให้ครอบคลุม เพื่อประชาชนเข้าถึงบริการมากที่สุด
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับ โรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค ทั้ง 7 แห่ง เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เพื่อส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและวิทยาการต่างๆ และการนำเสนอผลการศึกษาวิจัย รวมทั้งสนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับโรคมะเร็งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โดยนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเปิดงานประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ว่า การจัดประชุมครั้งนี้ส่งสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความร่วมทางด้านวิชาการ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมขับเคลื่อนการรักษาดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เช่น การขยายการใช้เครื่องรังสีรักษาให้มีความครอบคลุมมากขึ้นในทุกพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้รับการรักษาเร็ว ร่นระยะเวลาการเดินทาง หรือการนำเทเลคอนเฟอร์เร็นซ์มาใช้ พร้อมขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมและป้องกันมะเร็ง
“สถานการณ์การป่วยมะเร็งในปัจจุบัน พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 140,000 คน หรือ คิดเป็น 400 คนต่อวัน โดยอาจมีการนำงบลงทุนเข้าไปในพื้นที่ เพื่อขยายการรักษาให้ครอบคลุม และประชาชนเข้าถึงบริการมากที่สุด พร้อมแนะนำให้ความรู้ประชาชนตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยตัวเอง ทั้ง มะเร็งเต้านม ที่สามารถคลำก้อนได้ หรือการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยชุดตรวจ หรือการตรวจหาความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง เต้านม และ ปากมดลูกด้วยยีนส์ หรือการตรวจหามะเร็งลำไส้ด้วยชุดตรวจ เป็นต้น” นพ.ธงชัย กล่าว
ด้านนพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดมะเร็งพบได้ในคนอายุน้อยลง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารมากถึง 30-40% โดยเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง หากลดอาหารเหลานี้ได้ก็สามารถลดปัจจัยการเกิดมะเร็งได้ 30-40 % เช่นกัน โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก พร้อมเตรียมให้องค์ความรู้กับภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในประชาชน
นพ.สกานต์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาบัน โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคมะเร็ง ให้เป็นเครือข่ายสุขภาพที่สำคัญ ดังนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติและโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ลพบุรี ลำปาง อุบลราชธานี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จึงได้จัดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติขึ้นทุกๆ 2 ปี ซึ่งการประชุมวิชาการในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15
“ส่วนสถานการณ์ฝุ่น pm 2.5 ที่พบในภาคเหนือ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด เป็นเพียงปัจจัยร่วม โดยฝุ่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างชัดเจน ได้แก่ บุหรี่ ฝุ่นจากแร่ใยหิน และ ใยไม้ ทั้งนี้ยังต้องมีการติดตามและศึกษาวิจัยต่อไป เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่งเกิดในสังคม และบางพื้นที่ไม่นาน” นพ.สกานต์ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1346 views