ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ลองแล้วเลิกยาก "บุหรี่ไฟฟ้า" กระตุ้นสมองเด็ก หลั่งสารโดปามีน เกิดความสุขผ่อนคลาย เด็กติดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลสุขภาพ-สมอง ระยะยาว เพราะเริ่มสูบเร็ว หมออดิศักดิ์ จี้ทุกฝ่ายร่วมกันปกป้องสิทธิเด็ก บังคับใช้กฎหมาย ห้ามขาย! อย่างเข้มงวด

จากสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในปี 2565 พบวัยรุ่นหญิง อายุ 13-15 ปีสูบบุหรี่ไฟฟ้า 15% ผู้ชายบุหรี่ไฟฟ้า 20.2% ด้านการสำรวจโดยทันตบุคลากร ปี 2566 พบเด็กในกรุงเทพฯ เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9% หรือพบทุก 1 ใน 10 คน และยังมีข่าวเด็กอายุน้อย ๆ เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า

อีกทั้งผู้สูบยังอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะรับรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าลดลง รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ว่า เมื่ออายุของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าลดน้อยลง ทำให้บุหรี่ไฟฟ้ากระทบกับสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย ยาวนานจนเติบโตขึ้น กระทบระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ยังเล็ก มีผลต่อสุขภาพที่เร็วขึ้น เป็นภาระของสังคมต่อไปในระยะยาว เช่น เกิดความเสียหายของระบบหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง และโรคมะเร็ง  

บุหรี่ไฟฟ้ากระทบสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์

"เมื่อเด็กได้ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว จะติดอย่างรวดเร็ว เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด ทำให้สมองหลั่งสารโดปามีน เกิดความสุขผ่อนคลายในระยะแรก แต่ผลเสียของนิโคตินทำให้หลอดเลือดหดตัว เกิดการอักเสบและมีอนุมูลอิสระ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกับเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า (EVALI) เช่นเดียวกับผู้ใหญ่" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวและว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่เหม็น ไม่ระคายคอ สูบได้ตลอด จึงเป็นเรื่องยากที่จะเลิก อีกทั้งสมองเด็กเรียนรู้เร็วกว่าผู้ใหญ่ จึงเสพติดได้ง่ายกว่า ดังนั้น การไม่เริ่มลองสูบตั้งแต่แรกจะดีที่สุด 

พ่อแม่และคนในครอบครัวจึงต้องเป็นต้นแบบในการไม่สูบบุหรี่ เพราะมีงานวิจัยพบว่า บ้านที่มียาสูบจะทำให้เด็กสูบบุหรี่ได้มากกว่าถึง 3 เท่า การสำรวจทั่วโลกพบว่า บ้านปลอดบุหรี่ ทำให้เด็กติดน้อยลง คนสูบเลิกง่ายขึ้น   

นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า มีผลเสียต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น

  • ผลกระทบต่อระบบการหายใจ 
  • ส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด
  • กระทบระบบประสาท 

นอกจากนี้ สารพิษอื่น ๆ ในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนัก ฝุ่นจิ๋ว PM สารแต่งกลิ่นและรส ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้หลั่งสารอักเสบและอนุมูลอิสระ รวมถึงทำให้โรคหืดและภูมิแพ้กำเริบ 

ที่สำคัญ คือ สมอง หากเป็นเด็กเล็ก ๆ ก็ส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้ และพฤติกรรมทางสังคมในระยะยาว เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 25 ปี ทำให้ส่งผลต่อสมองส่วนหน้าที่ควบคุมความสามารถในการรับรู้ การคิดวิเคราะห์ ความจำ สมาธิ และอารมณ์ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี 

ไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง ทำร้ายคนใกล้ชิด

แม้แต่ผู้เป็นแม่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าตอนตั้งครรภ์ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษจำนวนมาก  มีความเสี่ยงทำให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เกิดก่อนกำหนด จำนวนถุงลมปอดน้อยกว่าปกติ มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ พบโรคสมาธิสั้นและระบบประสาทพัฒนาผิดปกติ
   
หากไม่ได้สูบเองแต่ยังได้รับละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะสารนิโคติน ทางสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง ทำให้เสี่ยงต่ออาการหลอดลมอักเสบและหายใจที่ถี่เพิ่มขึ้น เพราะมีโลหะหนักและอนุภาคขนาดเล็กกว่า PM 2.5 ที่สามารถเข้าไปถึงปอดได้ลึก ทำให้การทำงานของหัวใจและปอดแย่ลง

อันตรายเด็กกินน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้หยุดหายใจ-หัวใจหยุดเต้น

ผู้ที่ได้รับไอระเหยหรือสารเคมีจากบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง จะได้รับนิโคติน PM 10 และ PM 2.5 เมื่อคนใกล้ชิดสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า จะส่งผลต่อสุขภาพเด็ก เกิดภาวะหอบเฉียบพลัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กก่อนวัยเรียน 6 เดือน-5 ปี ทำให้เกิดการป่วยฉุกเฉินซ้ำถึง 67% ต้องนอนโรงพยาบาล 32% นอกจากกระทบระบบหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังกระทบสมองด้วย และกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้

รศ.นพ.อดิศักดิ์ เพิ่มเติมว่า อันตรายอีกอย่าง เมื่อวางน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าไว้ใกล้ตัวเด็กเล็ก อาจทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าเป็นขนมหรือน้ำหวาน นำมาดื่ม จะทำให้หยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้นได้ อันตรายถึงชีวิต ซึ่งมีรายงานการกินน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามาแล้ว พ่อแม่จึงต้องระวังให้มาก

เด็กวัยประถมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น 

"เด็กวัยประถมที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น มาจากความสำเร็จของการตลาด อินเตอร์เน็ตที่มีการสร้างค่านิยม จูงใจในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ควบคุมต้องมีความสำนึก ทั้งเรื่องการใช้กฎหมาย และการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็ก เพราะมีเนื้อหาของคอนเทนต์ที่จูงใจเด็ก ทำให้เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะการตลาด แพ็คเกจที่ออกแบบมาหลอกล่อเยาวชน ทำให้คิดว่าไม่อันตราย ผู้ทำหน้าที่คุ้มครองเด็ก พ่อแม่ต้องรู้ ต้องปกป้องสิทธิ์" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวและทิ้งท้ายว่า 

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเรียกร้องให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของภาครัฐ ได้พิจารณาให้มี การบังคับควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดอย่างจริงจัง โดยมีมาตรการควบคุมและป้องกันไม่ให้มีการจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเข้มงวดต่อไป