โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ชี้ นอนน้อย-นอนมาก-การกินเปลี่ยน-เก็บตัวเอง-ไม่เลี้ยงลูก สัญญาณเตือน ภาวะอารมณ์เปลี่ยน-ซึมเศร้าหลังคลอดบุตร แนะครอบครัว-คนใกล้ชิด สังเกตอาการ หากพบพฤติกรรมเปลี่ยน ควรปรึกษาแพทย์
รศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์ อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังคลอด (Postpartum Blue) และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) สามารถเกิดขึ้นได้หลังการคลอดบุตร โดยภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังคลอดเป็นภาวะที่พบเจอได้บ่อย ประมาณ 40 - 50% ของผู้หญิงหลังคลอด โดยอาจเกิดเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ และจะสามารถหายได้เอง
ขณะเดียวกัน ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการรุนแรงกว่า และพบได้น้อยกว่า ประมาณ 15 - 20% ของผู้หญิงหลังคลอด ซึ่งทั้ง 2 อาการนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อาการที่หญิงหลังคลอด ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดต้องสังเกตเพื่อเฝ้าระวังภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้น ประกอบด้วย 5 ข้อสำคัญ ได้แก่
1. นอนน้อย นอนไม่หลับ
2. นอนมากเกินไป
3. การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
4. การแยกตัวเอง เก็บตัวเอง แอบร้องไห้
5. ปฏิเสธการเลี้ยงดูบุตร
อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องมีการสนับสนุน ประคับประคองจากคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด สำหรับช่วยดูแลบุตรเพื่อให้หญิงหลังคลอดพักผ่อน และไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เครียดต่อเนื่องกัน รวมถึงควรสังเกตพฤติกรรมของหญิงหลังคลอดว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งหากสังเกตพบควรจะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัว จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพราะบางรายมีอาการรุนแรงจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด นำไปสู่ความต้องการที่จะทำร้ายตัวเอง และยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเลี้ยงดูบุตรด้วย
ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดเองควรจะต้องทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน เพราะภาวะอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงหลังคลอดทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความพร้อมในการมีบุตร เนื่องจากมีความคาดหวังว่าจะต้องเลี้ยงดูบุตรให้ดี หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถทำได้ดี เช่น น้ำนมไม่ออก ให้นมบุตรไม่ได้ อาจทำให้เกิดการโทษตัวเองของผู้เป็นแม่ได้
“ภาวะเช่นนี้ มีผลต่อคุณแม่ในเรื่องสุขภาพ แต่ก็กระทบกับลูกเช่นกัน บางคนก็มีพื้นฐานที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อยู่แล้ว พอตั้งครรภ์ก็อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น ไม่ยอมกินข้าว เหม่อลอย ทำให้ลูกอาจจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ หรือคลอดก่อนกำหนด ถ้ามีอาการหลังคลอดอาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูก ไม่ยอมให้นมลูก ไม่ยอมกินอาหารที่มีประโยชน์ บางคนมีอาการรุนแรงจากการเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อยากทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายลูกก็มี” รศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ ระบุ
- 85 views