ห่วง! สุขภาพจิตเด็กไทย 5-9 ปี พบ 1 ใน 14 คนมีพัฒนาการล่าช้า ทั้งโรคสมาธิสั้น ปัญหาไอคิว บกพร่องทางการเรียนรู้ ส่งผลระยะยาวจนถึงวัยรุ่น และนำไปสู่การใช้ยาเสพติด ขณะที่ รพ.สวนปรุง รับรักษาเด็กอายุ 6-12 ปีเพิ่มมากขึ้น    ด้านกรมสุขภาพจิต หนุนพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยายกระดับบริการสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย Thai Standardized Achievement Test (TSAT) ครั้งที่ 2 สำหรับนักจิตวิทยาคลินิกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน หนุนการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาคลินิกในเขตสุขภาพที่ 1 ในการคัดกรองดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยมี นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน ณ ห้องอิมพีเรียลบอลรูม โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

สุขภาพจิตเด็กไทย 5-9 ปี พบ 1 ใน 14 คนมีพัฒนาการล่าช้า

นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กไทยมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เด็กอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน พบมีพัฒนาการล่าช้า เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) มีปัญหาทางเชาวน์ปัญญา (IQ) และมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่นและนำไปสู่การใช้ยาเสพติด สอดคล้องกับการรายงานของโรงพยาบาลสวนปรุง ปี 2566 เด็กอายุ 6-12 ปี เข้ารับการรักษา จำนวน 213 คน ปี 2567 ช่วง 9 เดือน จำนวน 164 คน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโรคที่พบมาก 5 อันดับ ได้แก่ สมาธิสั้น ความผิดปกติแบบไม่อยู่นิ่ง ภาวะซึมเศร้า ความบกพร่องทางการเรียนรู้ และภาวะวิตกกังวล 

ชูนักจิตวิทยาคลินิกรองรับ ปัจจุบันมี 1,320 คน

กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและมีนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยมีจำนวนนักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบประกอบโรคศิลปะ จำนวน 1,320 คน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน) มีจำนวน 53 คน โครงการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทยนี้ จึงเป็นโครงการที่ช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดและเป็นประโยชน์ต่อหลายภาคส่วน

บทบาทนักจิตวิทยา ผู้ช่วยจิตแพทย์

โดยนักจิตวิทยามีบทบาทสำคัญนอกจากจะช่วยให้จิตแพทย์วินิจฉัยกลุ่มโรคที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำ นำเด็กเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็วแล้วยังช่วยส่งต่อข้อมูลให้กับครูการศึกษาพิเศษ นักแก้ไขการพูด นักกิจกรรมบำบัดเพื่อวางแผนกิจกรรมการช่วยเหลือให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสม เป็นการยกระดับการบริการสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที ดูแลคุ้มครองเด็กกลุ่มป่วยอย่างถูกต้องเท่าเทียม ทั่วถึงและต่อเนื่องจนหายทุเลา

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับผู้เรียนไทย (Thai Standardized Achievement Test) หรือ TSAT เป็นเครื่องมือมาตรฐานของ นักจิตวิทยาคลินิกที่ใช้ในการตรวจประเมินเชิงคลินิกและค้นหาปัญหาทางการเรียน ทั้งในด้านการอ่าน การเขียน การคำนวณของเด็กไทยอายุ 6-12 ปี เพื่อช่วยเหลือ “จิตแพทย์” ในการวินิจฉัยเด็กกลุ่มโรคที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) โดยทีมวิจัยได้ทดสอบจากกลุ่มตัวอย่างเด็กไทยทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 1,680 คน และได้จัดโครงการอบรมฯ นำร่องไปแล้ว จำนวน 75 คน ได้รับการตอบรับที่ดีและยอมรับว่าแบบทดสอบ TSAT แปลผลได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว ทำให้เด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุด ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา

รพ.สวนปรุง จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย Thai Standardized Achievement Test (TSAT) ครั้งที่ 2 ขึ้น ระหว่างวันที่  6-8 สิงหาคม 2567 สำหรับ นักจิตวิทยาคลินิกในเขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 60 คน โดยมี ทีมผู้วิจัย จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิกจากกรมสุขภาพจิต รวมถึงเครือข่ายภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร

หากผู้ปกครอง หรือครู พบว่าเด็กในการดูแลมีปัญหาทางการเรียนสามารถนำมาตรวจประเมินในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกประจำอยู่ หรือขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง