ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอดุษฎี" ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ชู "HOPE Task Force" ช่วยคนเสี่ยงทำร้ายตัวเอง หวัง "ชุมชน" สร้างเสริมสุขภาวะทางจิต ชี้บางครั้ง "เครียด" ไม่ได้ต้องการกินทาน เพียงต้องการปรึกษาด้านสุขภาพจิต ผลักดันท้องถิ่นจ้าง "นักจิตวิทยา" ลงรพ.สต. เพื่อปชช.เข้าถึงได้สะดวก 

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ จัดสัมนางานวิชาการเรื่อง “สุขเป็น : จิตวิทยาเชิงบวกในชุมชนโดยกลไกชุมชน”  ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เด็ก เยาวชน และครอบครัว  โดยมีพญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ได้อภิปรายในหัวข้อ "การสร้างเสริมจิตวิทยาเชิง แนวทางของประเทศ" อีกด้วย

ทั้งนี้ พญ.ดุษฎี เปิดเผยหลังจากอภิปรายภายในงานว่า มีทั้งการจัดการในตอนที่เกิดปัจจัยเสี่ยงและการจัดการในขณะที่กําลังเกิดเหตุ ในตอนปัจจัยเสี่ยง พบว่า ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการทําร้ายตัวเอง มี 3 อย่าง คือ 1.เรื่องสุขภาพ 2.เรื่องเศรษฐ และ 3.เรื่องสายสัมพันธ์ ในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาเหล่านี้ในแง่ของสุขภาพกับเศรษฐกิจชุมชนจะพอรู้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องสายสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นเรื่องที่บางครั้งอาจจะไม่ได้เปิดเผย แต่ถ้าเราใช้การช่วยกันสอดส่องมองหา ว่ามีใครในชุมชนที่กําลังมีความทุกข์อยู่ตรง ฃและเข้าไปช่วยเหลือด้วยการใช้ทักษะการฟังเชิงลึก อันนี้จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาแล้วก็ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงได้ด้วย 

ทีมปฏิบัติการกู้ชีพจัดการฆ่าตัวตาย หรือ  HOPE Task Force

2. การแก้ปัญหาขณะที่กําลังเกิดเหตุ ขณะนี้เรามีปฏิบัติการกู้ชีพจัดการฆ่าตัวตาย หรือ  HOPE Task Force โดยเป็นการทํางานร่วมกันระหว่างตํารวจกองปราบร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งในเพจหลักก็คือ Drama-addict  แหม่มโพธิ์ดำ และ หมอแล็บแพนด้า ร่วมกับนักจิตวิทยาการศึกษาของกรมสุขภาพจิต สายด่วนสุขภาพจิต 1323  โดยเวลาที่อินฟลูเอนเซอร์และลูกเพจสังเกตเห็นสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตายจะประสานเข้ามาในทีมที่ให้การช่วยเหลือ และนักจิตวิทยาจะโทรไปเพื่อติดต่อเคสมาให้การช่วยเหลือ คือให้การปรึกษาในขณะนั้น เพราะความสําคัญอยู่ที่ 10 นาทีก่อนทํา ถ้า 10 นาทีเข้าไปช่วยเหลือได้ทันจะไม่เกิดการทําร้ายตัวเอง แต่ถ้าติดต่อไม่ได้เราจะประสานเจ้าหน้าที่กองปราบเพื่อเข้าหาและช่วยเคสออกมา ขณะนี้กําลังขยายปฏิบัติการนี้ให้ครอบคลุมในทุกจังหวัดมากที่สุด ขณะนี้ช่วยไปแล้วประมาณ 500-600 ชีวิต แต่เป้าหมายคือต้องช่วยได้ถึง 60,000 คน ที่พยายามฆ่าตัวตายในในประเทศไทยในแต่ละปี 

 

"ตอนนี้กลุ่มที่เราห่วงใยมากๆคือกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน จริงๆฆ่าตัวตายสําเร็จมากคือผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ก็คือมีปัญหาเรื่องสุขภาพกาย แต่อีกกลุ่มที่ห่วงใยและควรเข้าไปช่วยได้มากและได้ผลลัพธ์กลับมาที่ดีมากคือ วัยรุ่นและเยาวชน เพราะถ้าหากการฆ่าตัวตายสําเร็จในวัยนี้ มันเข้ากับเราสูญเสียบุคลากรที่เป็นอนาคตของประเทศ แล้วเยาวชนในกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเลียนแบบกันได้ง่ายด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราหยุดไม่ได้หนึ่งเคส อาจจะเกิดการเลียนแบบรายอื่นตามมา เพราะฉะนั้น การฆ่าตัวตายเพราะซึมเศร้าในวัยรุ่นเยาวชนเป็นจุดสําคัญที่เราให้ความสนใจและมุ่งเน้นมาก และเป็นที่มาว่าทําไมถึงพัฒนา  HOPE Task Force ขึ้นมาเพื่อจะค้นหาจากทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเยาวชนด้วย" พญ.ดุษฎี กล่าว

ดันท้องถิ่นจ้าง "นักจิตวิทยา" ลงรพ.สต. 

นอกจากนี้ ในเรื่องของวิชาชีพนักจิตวิทยามีความจําเป็นมาก เพราะในวันที่ประเทศไทยไม่ได้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเหมือนในอดีต โรคที่เป็นโรคไม่ติดเชื้อ เช่น "โรคด้านจิตใจ" จะเริ่มเป็นปัญหาและเห็นชัดขึ้น แต่เราไม่มีคนที่มีทักษะด้านการดูแลจิตใจอยู่ในชุมชนเลย เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีนักจิตวิทยาชุมชน ทุกคนจะต้องไหลมาที่โรงพยาบาลประจําอําเภอทั้งหมดและก็ไม่ครอบคลุมด้วย

"อย่างจุดเริ่มต้นเกือบทั้งหมดเริ่มต้นจากความเครียด แต่มันไม่ใช่เครียดแล้วเดินมาโรงพยาบาลชุมชนมันไม่ใช่เครียดแล้วเดินไปพบจิตแพทย์ จริงๆแล้วเวลาที่คนเครียดคนไม่ได้ถึงกับต้องการไปหายาทาน เพียงต้องการการปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะฉะนั้นนักจิตวิทยาในรพ.สต. จึงเป็นคําตอบของเรื่องนี้ แล้วเราก็หวังว่าทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นความสําคัญแล้วก็จัดจ้างให้เกิดตําแหน่งนี้ขึ้นมาในทุกชุมชน" พญ.ดุษฎี กล่าว

พญ.ดุษฎี กล่าวต่อว่า ในส่วนความสำคัญของชุมชนที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องปัญหาสุขภาพจิตนั้น มองว่า "บ้านสําคัญยังไงชุมชนก็สําคัญอย่างนั้น" เพราะนั่นคือที่ที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหนเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราอยู่ในชุมชนที่เต็มไปด้วยความรุนแรง สิ่งแวดล้อมไม่น่าอยู่ เราก็จะมีชีวิตหรือคุณภาพชีวิตเราก็จะเป็นไปตามนั้น แต่การที่เป็นชุมชนที่สุขเป็น ชุมชนที่ให้ความใส่ใจและให้ความสําคัญกับความสุขของคนในชุมชน สิ่งแวดล้อมในชุมชนจะนํากลับมาเป็นเครื่องมือสร้างสุข ที่จะกลับมากลายเป็นความสุขที่มันสะท้อนอยู่ในใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นชุมชนจึงเป็นแหล่งรวมทั้งบ้าน โรงเรียน ที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งเพาะบ่มความสุขของคนในชุมชนได้ด้วยตัวชุมชนเอง 

"การที่ชุมชนลุกขึ้นมาสร้างสุขในชุมชนจึงสำคัญมาก ยากมากที่จังหวัดจะไปลงมือทําให้ยากมากที่อําเภอจะลงไปทําให้ยากมากที่กรมสุขภาพจิตจะลงไปทําให้ แต่ชุมชนเป็นของชุมชนที่ต้องบริหารจัดการและสร้างสุขในชุมชนด้วยตัวเองให้เป็น" พญ.ดุษฎี กล่าวทิ้งท้าย

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

- ลดความเครียด-ซึมเศร้า ใน"ผู้สูงอายุ-เด็กวัยรุ่น" ผ่านกิจกรรม "เกมเศรษฐี" ได้สำเร็จ

- ชูนวัตกรรม “สุขเป็น” นำร่อง 6 จ. ดันชุมชนเกาะติดปัญหาสุขภาพจิต-ภาวะซึมเศร้า