ประธานชมรม รพศ./รพท. ติง สปสช.จ่ายต่ำกว่าต้นทุน สวนทางนโยบายรัฐบาล ‘ยก’ ระดับเป็น ‘ลด’ ระดับบัตรทอง ชี้จากปัญหางบประมาณไม่สอดคล้องตามจริง กระทบเงินบำรุงรพ.หลังหักหนี้สิน ติดลบแล้ว 270 กว่าแห่งเฉพาะเดือน มิ.ย.67 และเข้าสู่วิกฤติการเงินระดับ 7 เพิ่มขึ้น ชงสปสช.เปิดข้อมูลจัดสรรงบเกินให้ใคร แนะปรับเปลี่ยนงบปลายปิด เป็นจ่ายตามต้นทุนจริง แก้ปัญหาได้
หลังจากชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ร่วมกับ คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) ยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีจัดสรรงบเหมาจ่ายเพื่อบริการประชาชนและแก้ปัญหางบปลายปิด เพราะกระทบหน่วยบริการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯสปสช.เผยว่า งบปลายปิดเป็นกติกา หากปรับเปลี่ยนต้องคิดอย่างถี่ถ้วนนั้น
เงินบำรุงรพ.ติดลบแล้ว 270 กว่าแห่งเฉพาะเดือน มิ.ย.
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ว่า สืบเนื่องจาก รพ.ในสังกัดกระทรวงฯ กำลังประสบปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ โดยเฉพาะ “งบผู้ป่วยใน” ที่นอนรักษาตัวในรพ. โดยเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาประสบปัญหาทางการเงิน จากการจัดสรรงบของสปสช. เดิม สปสช.การันตีอัตราจ่ายค่าชดเชยผู้ป่วยในต่อหน่วย คิดเป็น 8,350 บาท/adjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน: เป็นเกณฑ์การคำนวณจ่ายเงินให้รพ.ของสปสช.) ขณะที่ต้นทุน รพ. อยู่ที่ 13,412 บาท/adjRW
“ปัญหาคือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจ่ายแค่ 7,000 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ทำให้ รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในไปแล้ว ไม่ได้รับเงินคืนมาถึง 236 แห่งจาก 902 แห่ง และยังถูกหักเงินเดือนจากการรวมงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวอีก ส่งผลให้เงินบำรุงติดลบหลังหักหนี้ต่างๆ แล้วมีถึง 270 กว่าแห่ง ตัวเลขดังกล่าว ส่งผลให้รพ.หลายสิบแห่งเข้าสู่วิกฤติการเงินระดับ 7” นพ.อนุกูลกล่าว
24 แห่งวิกฤติระดับ 7 ส่วนใหญ่จากปัญหางบบัตรทอง
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่า ขณะนี้มีรพ.วิกฤติระดับ 7 ถึง 24 แห่งจริงอย่างที่มีการพูดกันในแวดวงสาธารณสุขหรือไม่ นพ.อนุกูล กล่าวว่า ใช่ และรพ.ที่ประสบปัญหาวิกฤติระดับ 7 มาจากการจัดสรรเงินของ สปสช. เพราะรายรับส่วนใหญ่ของรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มาจากงบบัตรทอง นอกนั้นก็จะมีเงินจากประกันสังคม และเบิกจากข้าราชการ แต่จะเป็นรพ.ขนาดใหญ่ หากรพ.ขนาดเล็ก ยิ่งรพ.ชุมชน จะอยู่ได้เพราะบัตรทอง หากเปลี่ยนเกณฑ์ก็รับผลกระทบแน่ๆ อย่างรพ.ขนาดใหญ่ ยังมีเงินช่วยเหลือกองทุนอื่นอยู่บ้าง และเงินบริจาค เรียกว่าเป็นเงินหลักๆ
ชงสปสช.เปิดข้อมูลจัดสรรงบเกินให้ใคร
ผู้สื่อข่าวถามกรณีเลขาฯสปสช.บอกว่างบปลายปิด เป็นกติกา ก่อนหน้านี้ในปี 2565 มีเงินเหลือก็คืนให้เกินกว่าอัตรา 8 พันกว่าบาทต่อหน่วย
(อ่านข่าว: สปสช.แจงปม ‘ยูฮอสเน็ต-ชมรมรพศ./รพท.’ ชี้เหตุผลจัดสรรเงินปลายปิด ถ้าเปลี่ยนต้องคิดถี่ถ้วน)
นพ.อนุกูลกล่าวว่า หากมีการกล่าวเช่นนี้ขอให้นำข้อมูลมาเปิดเผยอย่างมีธรรมาภิบาล ว่าจ่ายเกินจริง หรือเอาเงินที่เหลือไปไหน หากคืน รพ. คืนไปที่แห่งใด เนื่องจากข้อมูลจากชมรม รพศ./รพท.ไม่พบว่ามีการคืนกลับให้รพ. ส่วนข้อห่วงใยจากสปสช.ว่า หากเปลี่ยนเป็นงบปลายเปิด เมื่อมีเงินเหลือจะคืนไม่ได้นั้น ก็ไม่เป็นไร ขอเพียงให้สปสช.จ่ายตามต้นทุนจริง เพราะเมื่อรพ.ให้บริการในปริมาณที่มาก ก็ควรได้รับการจัดสรรงบตามการบริการเช่นกัน
“จริงๆ การบริหารงบของสปสช. ไม่ใช่ปลายปิดทั้งหมด มีการจ่ายงบแบบปลายเปิดด้วย อย่างนวัตกรรมต่างๆ ทั้งร้านยา คลินิก แลป ฯลฯ ยิ่งรักษาเยอะก็สามารถจ่ายตามได้ ด้วยการหางบประมาณมาจ่าย สวนทางกับรพ. ของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้บริการผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ด้วยงบปลายปิด ทำให้หางบอื่นมาเติมไม่ได้ แบบนี้เหมาะสมเป็นธรรมหรือไม่” นพ.อนุกูลกล่าว
ถามย้ำว่าสรุปแล้วควรแก้ปัญหาอย่างไร นพ.อนุกูล กล่าวว่า จริงๆ มติบอร์ดสปสช.เมื่อเดือนธันวาคม 2566 มีมติให้หาเงินจากกองทุนอื่น หรือของบประมาณเพิ่มเติม แต่มติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมกลับไม่พบประโยคนี้แล้ว กลาย เป็นให้ลดลงตามส่วน เหลือจ่ายเพียง 7 พันบาทต่อหน่วยเท่านั้น
สปสช.สวนทางนโยบายรัฐบาลยกระดับบัตรทอง
"สิ่งที่น่าห่วงคือ สปสช.กำลังสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ ยกระดับบัตรทอง หรือไม่ เพราะจ่ายต่ำกว่าต้นทุนมาก ถือเป็นการ ลดระดับบัตรทอง มากกว่า " นพ.อนุกูล กล่าว
นพ.อนุกูล กล่าวว่า ยกตัวอย่าง ต้นทุนรักษาไส้ติ่งประมาณ 1.4 หมื่นบาท แต่สปสช.จ่าย 9 พันกว่าบาทมาตลอด 4-5 ปี และเดือนมิถุนายนกลับจ่ายแค่ 7 พันบาท นี่ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น สปสช.ต้องไปอธิบายให้สำนักงบประมาณเข้าใจว่า ต้นทุนจริงเท่าไหร่ การบริการเกิดขึ้นเท่าไหร่ ต้องจ่ายตามจริง ไม่ใช่โยนความเสี่ยงให้รพ.ทั้งหมด
ต้องให้ความสำคัญรักษาพื้นฐานก่อน
ประธานชมรมรพศ./รพท. กล่าวทิ้งท้ายว่า สปสช.กับรัฐบาลควรทำให้การบริการขั้นพื้นฐานในการดูแลคนไข้ได้คุณภาพมาตรฐานก่อน ส่วนบริการเสริมอื่น หรือนวัตกรรมต่างๆ ค่อยเพิ่มเติมทีหลัง แต่ขณะนี้สปสช.กลับเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่บริการหลักในการรักษาคนไข้ เช่น ปรับลดงบที่รักษาผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจาก 8,350 เหลือ 7,000 บาท (ต้นทุน 13,000 บาท) แต่สปสช.กลับไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการผ่าตัดแปลงเพศ ในขณะที่งบประมาณในงานบริการหลักไม่ได้เพิ่มเติมให้เพียงพอ ก็ส่งผลกระทบ หากมีงบเพิ่มเติมคงไม่มีปัญหา แต่นี่มาตัดเงินบริการพื้นฐานเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-เครือข่ายหมอ รร.แพทย์ -รพศ.รพท.บุกยื่น “สมศักดิ์‘ ร้องปมเงิน สปสช.ทำ รพ.ขาดทุน ล่าสุดกระทบ 236 รพ.
-ปลัดสธ.มอบผู้ตรวจฯ รีเช็ก ‘24 รพ.’ ขาดสภาพคล่อง “เงินบำรุง” เริ่มร่อยหรอ เข้าวิกฤติระดับ 7
-ปลัดสธ.แจงเหตุใช้ “เงินบำรุง” สร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หลังบางส่วนกังวลเงินเริ่มน้อยลง
- 2603 views